“หมอสุภัทร” หนุนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ “ถ้าแก้แล้วแย่ อย่างแก้ดีกว่า” แนะแก้ กม.บัตรทอง รอหลังเลือกตั้ง เหตุ กม.เดิมใช้ได้อยู่ พร้อมย้ำประชาพิจารณ์พูด 3 นาที เป็นแค่พิธีกรรมมีธง ไม่ได้ประโยชน์ ระบุต้องเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ได้ข้อสรุปสู่สมานฉันท์
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายภาคประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้วอล์คเอาต์เวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ว่า เป็นการวอล์คเอาต์ที่มีเหตุผล เพราะกระบวนการทำประชาพิจารณ์โดยให้แสดงความเห็นจำกัดเพียงแค่ 3 นาที เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น ที่ให้มีการพูด แต่ไม่สามารถสะท้อนถึงเหตุผลที่หนักแน่นต่อความเห็นได้ อีกทั้งเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีการรับฟังแค่ไหน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงมองว่าน่าจะมีกระบวนการที่ดีกว่านี้ โดยควรให้มีการเปิดเวทีถกทีละประเด็น แม้ว่าอาจใช้เวลา 2-3 วัน แต่จะได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันที่เป็นสมานฉันท์ หรือแม้หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่อย่างน้อยก็จะมีการบันทึกเหตุผลไว้ว่า คนที่มีความเห็นแตกต่างมีเหตุผลอย่างไร ซึ่งดีกว่าการพูด 3 นาที
ผอ.รพ.จะนะ กล่าวต่อว่า การประชาพิจารณ์รูปแบบนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้มีประโยชน์ ตั้งแต่การประพิจารณ์การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่อก๊าซ หรือแม้แต่การสร้างเขื่อนที่ล้วนแต่การใช้ประชาพิจารณ์ 3 นาที โดยเฉพาะที่ภาคใต้ชาวบ้านได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า การประชาพิจารณ์แบบนี้เป็นแค่พิธีกรรมที่มีธงอยู่แล้ว ไม่ได้มีการรับฟังเสียงประชาชนจริงๆ ที่ผ่านมาการประชาพิจารณ์ภาคใต้จึงล้มทุกเวที ซึ่งในกรณีของการประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทอง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังเกรงใจ เป็นเพียงแค่วอล์คเอาต์เท่านั้น
“ทั้งนี้ขอฝากไปยังผู้บริหารประเทศและรัฐบาล ตนคิดว่าสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องเป็นคำขวัญนั้นถูกต้องและเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ “ถ้าแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” “รอหลังเลือกตั้งก็ได้ จะรีบไปไหน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรรับฟัง”
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 14 ประเด็น หัวใจสำคัญที่สุดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ถูกปรับแก้คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยบอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชนน้อย ขณะที่มีการเพิ่มสัดส่วนในส่วนของภาคผู้ให้บริการและวิชาชีพเข้ามาแทน ซึ่งตามกฎหมายในการพิจารณาและดำเนินการเรื่องใดนั้นจะเป็นไปตามที่บอร์ดกำหนด ส่งผลให้ภาคประชาชนกังวลต่อการแก้ไข ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าควรที่จะมีการปรับเพิ่มบอร์ดสัดส่วนภาคประชาชนแทน ทั้งนี้เพื่อให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบที่ดูแลประชาชน อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้บอร์ดสัดส่วนภาคประชาชนมีน้อย น่าจะเป็นการเอาคืนของอำนาจรัฐในยุคการสร้างภาครัฐให้แข็งแรง
ทั้งนี้ในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เท่าที่ติดตาม ประชาชนมีเหตุผลที่จะเรียกร้อง ซึ่งไม่รู้จะรีบแก้ไขไปทำไม รอหลังเลือกตั้งก็ได้ ไม่ต้องรีบเร่ง เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมก็ยังเดินได้อยู่ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา รพ.ออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่เกิดจากการบริหารกองทุน นพ.สุภัทร กล่าวว่า ต้นเหตุน่าจะมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็เพียงพอเฉพาะการเพิ่มในส่วนเงินเดือนที่ปรับเพิ่มประมาณ 6-7% ต่อปี ขณะที่งบภาพรวมในระบบลดลง ดังนั้นแม้ว่าจะมีการแก้กฎหมายแต่ปัญหาจะยังคงอยู่ ทางออกจึงมองว่าไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่ให้เพิ่มการรีดภาษีสินค้าทำลายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมที่มีมูลค่าการตลาด 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เครื่องดื่มชูกำลัง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และชาเขียว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาเพิ่มเติมงบประมาณระบบสุขภาพให้ สธ.และ สปสช.บริหาร ทุกอย่างก็จะผ่านคลายลงได้ เพราะปัญหามาจากงบไม่ใช่เรื่องใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเดินหน้าแก้ไขกฎหมายต่อและมีผลบังคับใช้ ผลจะเป็นอย่างไร นพ.สุภัทร กล่าวว่า สธ.จะมีอำนาจมากขึ้นในการจัดการหลายอย่าง ขณะที่ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งในการตรวจสอบมากขึ้น เช่นเดียวกับ สธ.ก็เหนื่อยมากขึ้นเช่นกัน เพราะเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของ สธ.เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันบริหาร ส่วนที่ภาคประชาชนห่วงว่าจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศถอยหลังนั้น เนื่องจากมี 4-5 ประเด็นที่กังวล ทั้งการร่วมจ่ายซึ่งยังไม่รู้ว่าจะกำหนดอัตราเท่าไหร่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาได้ เช่นเดียวกับข้อเสนอการแยกเงินเดือนที่จะกระทบต่อการกระจายบุคลากร เพราะจะทำให้แพทย์ย้ายเข้าเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีแพทย์ที่อยากทำงาน รพ.ในเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ รพ.ไม่รับเนื่องจากต้องจ่ายเงินเดือนเอง แต่หากแยกเงินเดือนออกไป เงินเดือนจะไม่ใช่ต้นทุน รพ.อีกแล้วและจะรับบุคลากรเพิ่มได้เต็มที่ เป็นเหตุให้เกิดภาวะสมองไหลตามมา
ส่วนข้อเสนอให้คงจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมระดับประเทศโดย สปสช.นั้น เรื่องนี้ คตร.และ สตง.ได้ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจ เป็นหน้าที่ สธ. แต่เครือข่ายภาคประชาชนอยากให้คงการจัดซื้อที่ สปสช.ต่อไป โดยให้ สธ.ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมา สปสช.ทำหน้าที่ได้ดีและยังมียาและเวชภัณฑ์ที่ต้องจัดซื้ออีกมาก
- 7 views