เภสัชกร รพ.โนนสัง ชี้ “สร้างเครือข่าย” คือปัจจัยความสำเร็จเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพชุมชน ระบุ อาวุธที่สำคัญที่สุดคือ “ข้อมูล” ต้องคืนให้ผู้นำชุมชนเข้าใจ ย้ำประชาชนจำนวนมากยังขาดความรู้เรื่องสเตียรอยด์
ภญ.พิมลพรรณ ศรีภูธร เภสัชกรโรงพยาบาลโนนสัง จ.หนองบัวลำภู นำเสนอผลงานเรื่องบทเรียนการดำเนินงานโดยใช้กลไกชุมชนเพื่อจัดการปัญหายาไม่เหมาะสม กรณียาสเตียรอยด์ในพื้นที่โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ภายใต้การประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ “เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า จุดเปลี่ยนสำคัญในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ภายหลังญาติของเจ้าหน้าที่ห้องยาเกิดอาการช็อก เพราะไปรับประทานยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์
ภญ.พิมลพรรณ กล่าวว่า เมื่อทราบปัญหาจึงได้จัดกระบวนการดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.สำรวจปัญหา 2.จัดลำดับความสำคัญของปัญหา 3.คืนข้อมูลให้กับผู้นำชุมชนและหัวหน้าส่วน 4.ตั้งคณะกรรมการ แบ่งหน้าที่และสร้างทีมทำงาน 5.เฝ้าระวัง สรุป และวางแผนต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินงานออกเป็น 4 เฟส ประกอบด้วย เฟส 1 เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนปี 2554 ภายหลังพบปัญหาจึงเกิดเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยคนในชุมชนให้ได้ จึงคิดว่าจำเป็นต้องดึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) มาช่วย แต่ก็ยังพบปัญหาเรื่องการขายยาอันตรายในร้านชำ 41.67% และยังพบว่าการเฝ้าระวังไม่ต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องหาทีมทำงานเพิ่ม
“นำมาสู่เฟส 2 ประมาณปี 2555 ที่เกิดแนวคิดสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน (คบส.) โดยกำหนดเป้าหมายให้มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.แห่งละ 1 คน และ อสม.จาก รพ.สต.แห่งละ 2 คน ซึ่งจากการดำเนินงานทำให้เรียนรู้ว่าเครือข่าย คบส.มีเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ”ภญ.พิมลพรรณ กล่าว
ภญ.พิมลพรรณ กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้เรียนรู้ว่าจำเป็นต้องขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น จึงนำไปสู่งานเฟส 3 ช่วงปี 2556 ซึ่งนอกจากจะเกิดโครงการ อย.น้อยช่วยรณรงค์แก้ปัญหาในพื้นที่แล้ว ส่วนตัวยังมองว่านายอำเภอและผู้นำชุมชนเป็นบุคคลสำคัญที่จำเป็นต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วม จึงได้หารือกับนายอำเภอและได้รับการตอบรับอย่างดี โดยนายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการ คบส.อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน ทุกตำบล นั่นยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าการมีเครือข่ายทำให้งานง่ายขึ้นและต่อเนื่อง
สำหรับเฟสสุดท้ายประมาณปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วงดาวกระจาย คือการดำเนินงานยังคงเป็นการคืนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมถอดบทเรียน ซึ่งนอกจากการปัญหาสเตียรอยด์แล้วพบอีกว่าในพื้นที่ อ.โนนสัง มีปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัย นายอำเภอจึงกำหนดนโยบายโนนสังเมืองแห่งความสุขเน้นอาหารปลอดภัยขึ้น ซึ่งนับเป็นความงอกงามจากการดำเนินการ
นอกจากนี้ ในเฟสเดียวกันนี้ยังมีการฟื้นฟูความรู้และขยายทีมนักวิทย์เพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ระดับอำเภอขึ้นที่กลุ่มงานเภสัชกรรมฯ และศูนย์ Lab ชุมชนที่งานเทศกิจ และ รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์อันตราย จาก SINGLE WINDOW
"จากเดิมที่เภสัชกรอยู่แต่ในห้องยา ก็อยากจะชวนให้ก้าวออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมนั้น แล้วจะพบว่าในชุมชนมีพี่น้องภาคีเครือข่ายอีกมากมายให้ร่วมงาน" ภญ.พิมลพรรณ กล่าว
ภญ.พิมลพรรณ กล่าวอีกว่า อาวุธสำคัญของเราคือข้อมูลฉะนั้นเราต้องคืนข้อมูลนี้ให้กับบุคคลสำคัญของชุมชนและผูัประกอบการ มากไปกว่านั้นเมื่อทีมงานสามารถแทรกซึมเข้าไปในชุมชนได้แล้ว เมื่อชุมชนมีกิจกรรมอะไรก็จะขอเข้าไปตั้งบูธแสดงผลิตภัณฑ์ที่เคยตรวจเจอสเตียรอยด์ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนนำสินค้าต่างๆ มาตรวจฟรี
“เมื่อพบการปนเปื้อน แนวทางการแก้ไขก็คือแจ้งให้ผู้ที่นำตัวอย่างมาตรวจทราบว่ายาปนเปื้อนสเตียรอยด์ พร้อมทั้งแนะนำให้หยุดใช้ยา นอกจากนี้ได้แจ้งไปยังหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและตักเตือน" ภญ.พิมลพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินงานก็คือ ประชาชนยังต้องเผชิญกับปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเครื่องสำอางอันตราย ยาแผนโบราณผสมสเตียรอยด์ ซึ่งมักจะกระจายจากรถเร่ขาย ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังขาดความรู้และการคืนข้อมูลในชุมชนยังน้อย จึงจำเป็นต้องทำงานอย่างเข้มข้นต่อไป
- 111 views