เครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ วอนรัฐเห็นใจสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบ ทั้ง ทันตาภิบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรม นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เวชสถิติ โสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ เจ้าพนักงานการแพทย์แผนไทย และนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ชี้เป็นวิชาชีพชายขอบที่สิทธิ สวัสดิการ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนถูกละเลยมาตลอด
นายภาณุพงศ์ ปิ่นแก้ว ประธานเครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ และประธานชมรมทันตาภิบาลลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบ อันได้แก่ ทันตาภิบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรม นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เวชสถิติ โสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ เจ้าพนักงานการแพทย์แผนไทย และนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ สหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบเหล่านี้ปฏิบัติงานตามพื้นที่ชายขอบ ชายแดน เกาะ ดง ดอย ของประเทศ รับตัวชี้วัดของ สธ.ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยแลกมาด้วยความยากลำบากในทำงานภายใต้ความเสี่ยงสูงในขณะที่ออกปฏิบัติงาน เช่น ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงสูงตามตะเข็บชายแดน บนดอยสูง รวมไปถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ให้บริการกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จนถึงผู้สูงอายุ โดยได้รับค่าตอบแทนเพียงแค่เงินเดือนที่จ่ายให้ตามหลักเกณฑ์ของลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น หากปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลจากที่พักออกไปก็ต้องนำรายได้ส่วนนี้ใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางเสียส่วนใหญ่ ส่วนสวัสดิการที่ได้รับนอกเหนือจากเงินเดือนก็มีเพียงแค่สวัสดิการประกันสังคมเพียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเป็นลูกจ้างทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับภาระงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำแล้วจึงถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย
ยกตัวอย่างสายงานทันตาภิบาลที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งผลิตทันตาภิบาลจำนวน 3,200 คน ในปี 55 - 56 โดยอ้างว่า จากการสำรวจบุคลากรของ รพ.สต.พบว่า มีความขาดแคลนทันตาภิบาลมากถึงร้อยละ 80 ทาง สธ.จึงมีนโยบายจัดทำโครงการผลิตทันตาภิบาลเพื่อปฏิบัติงานใน รพ.สต.เป็นกรณีเร่งด่วน จำนวน 3,200 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2556 ผลิตปีละ 1,600 คน โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละ 30 ล้านบาท จากนโยบายของ สธ.ดังกล่าวนั้นจึงส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนทันตาภิบาลที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต.เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายกลับถูกลอยแพไม่ได้บรรจุแต่อย่างใด
นายภาณุพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นหลายสายงานยังเป็นตำแหน่งงานที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้จัก เช่น ทันตาภิบาลถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเพียงผู้ช่วยทันตแพทย์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ถูกมองเป็นคนงานห้องยา เวชสถิติ ถูกมองเป็นแค่คนทำบัตรโรงพยาบาล หรือหมออนามัย ที่ถูกมองเป็นแค่กรรมกรสาธารณสุข เป็นต้น แต่กลับไม่เคยได้รับความสนใจจากทางกระทรวงสาธารณสุขผู้ซึ่งเป็นต้นสังกัดแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสายงานเหล่านี้จึงเป็นเพียงแค่ตำแหน่งงานที่ปฏิบัติงานแบบปิดทองหลังพระเท่านั้น
นายริซกี สาร๊ะ ที่ปรึกษาเครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ กล่าวว่าบุคลากรสาธารณสุขมีมากกว่า 20 วิชาชีพ ยังมีอีกหลายวิชาชีพที่รอการบรรจุเช่นกัน ซึ่งในจำนวนนี้มีบางวิชาชีพที่จบมาปฏิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ตั้ง 7 ปีมาแล้วแต่ยังไม่ได้บรรจุ ในขณะที่บางสายงานบรรจุทันทีที่จบ และบางสายงานสอบคัดเลือก แต่บางสายงานต้องสอบแข่งขัน ซึ่งแสดงว่า ความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุขยังมีสูง ทางเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้จัดสรรตำแหน่งหว่างให้กับทุกวิชาชีพอย่างทัดเทียมเป็นธรรม โดยเฉพาะการบรรจุบุคลากรที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างทุกประเภทเพิ่มขึ้นจากเดิม ให้สอดคล้องกับโครงสร้างหน่วยงานสาธารณสุขส่วนภูมิภาคใหม่ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการปฐมภูมิ 4.0 (พ.ศ. 2560 -2579) ที่ในเนื้อหาให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพอย่างทัดเทียมเป็นธรรม
ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มตำแหน่งบรรจุสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบเหล่านี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อประชาชน และเป็นการสร้างชวัญและกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ชายขอบ กันดาร เสี่ยงภัย ที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานในภาครัฐเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพของประชาชน ชุมชน และสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งหากเครือข่ายยังไม่ได้รับความชัดเจน เรื่องตำแหน่งบรรจุสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบดังกล่าว น้องๆ ในเครือข่ายฯอาจจะต้องรวมตัวกันไปยื่นหนังสือทวงถามที่กระทรวงและหน่วยงานที่เกียวข้องต่อไป
- ภาณุพงศ์ ปิ่นแก้ว
- ริซกี สาร๊ะ
- สหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบ
- ทันตาภิบาล
- เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชุมชน
- นักวิชาการสาธารณสุข
- เจ้าพนักงานสาธารณสุข
- เวชสถิติ
- โสตทัศนศึกษาทางการแพทย์
- เจ้าพนักงานการแพทย์แผนไทย
- นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
- บรรจุข้าราชการ
- ข้าราชการ
- พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
- ลูกจ้างชั่วคราว
- บุคลากรสาธารณสุข
- กำลังคนสุขภาพ
- 124 views