คลินิกรักษ์ไต รพ.ทองผาภูมิ ประสาน รพ.สต.เครือข่าย จัดระบบดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษา หลังต้องเดินทางกว่าร้อยกิโลเมตร เสียค่าใช้จ่ายเดินทางเพื่อรับการรักษายัง รพ.พหลพลพยุหเสนา ปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 6 ราย ไกลสุดอยู่หมู่บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก เผยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่พบการติดเชื้อ
น.ส.ศศิธร กัญญา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในฐานะพยาบาลดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง กล่าวว่า รพ.ทองผาภูมิ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียงรองรับดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ รวมถึงผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องที่รับดูแลต่อเนื่องจาก รพ.พหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ต่อมาในปี 2559 รพ.ทองผาภูมิจึงได้มีการจัดตั้งคลินิกรักษ์ไตขึ้น เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 3-5 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการ มาให้คำแนะนำและความรู้กับผู้ป่วยเพื่อชะลอการเสื่อมของไต รวมถึงการติดตามดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีเพียง 1 รายที่อายุ 18 ปี นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการเตรียมล้างไตผ่านช่องท้อง 20 ราย ในจำนวนนี้ 3 ราย อยู่ระหว่างการส่งตัวไปยัง รพ.พหลพลพยุหเสนา เพื่อวางสายหน้าท้องก่อนล้างไตผ่านช่องท้อง
น.ส.ศศิธร กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยก่อนที่จะล้างไตผ่านช่องท้องนั้น ทีมแพทย์และพยาบาลต้องออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุกราย โดยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่บ้านผู้ป่วย เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและครอบครัวถึงแผนการรักษา ข้อมูลและวิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วย โดยเฉพาะการจัดเตรียมพื้นที่ภายในบ้านที่ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นพื้นที่ล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย ซึ่งต้องจัดทำเป็นห้องเฉพาะและแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของบ้าน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ครั้งแรกจะเป็นการประเมินสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อจัดพื้นที่ล้างผ่านช่องท้อง การเยี่ยมบ้านครั้งที่สองจะเป็นการดูการจัดพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ และหลังจากจะส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.พหลพลพยุหเสนาเพื่อเปิดหน้าท้องและวางสายต่อล้างไต โดยเราจะเป็นผู้สอนผู้ป่วยในการล้างไตผ่านช่องท้องรวมถึงวิธีดูแลตนเอง และหลังเริ่มล้างไตผ่านช่องท้องแล้วเราจะมีการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามผลการรักษาและให้มั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อแน่นอน พร้อมกับประสาน รพ.สต.ที่เป็นลูกข่ายติดตามต่อเนื่อง ซึ่งกรณีเกิดปัญหาสามารถโทรมายังคลินิกรักษ์ไต รพ.ทองผาภูมิ ได้ 24 ชม.
“ผู้ป่วยที่รู้ว่าต้องล้างไตผ่านช่องท้อง ทั้งหมดปฏิเสธเพราะรู้สึกกลัวและกังวล เนื่องจากต่างเคยรับข้อมูลเกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้องในแง่ลบมาแล้ว ทั้งในแง่ของวิธีการที่ยุ่งยาก และเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านช่องท้อง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการเชิงรุก เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงการล้างไตผ่านช่องท้องกับกับผู้ป่วยก่อน โดยเฉพาะการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี ทั้งนี้หลังการให้ข้อมูลต่อเนื่อง ซึ่งบางรายใช้เวลาเป็นปีในที่สุดผู้ป่วยจะยอมรับการล้างไตผ่านช่องท้อง แม้ว่าจะมีบางรายปฏิเสธและลองไปใช้วิธีการรักษาโดยสมุนไพร แต่ก็ต้องกลับมารักษาด้วยวิธีนี้” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ทองผาภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องของคลินิกรักษ์ไต รพ.ทองผาภูมิ ทั้ง 6 ราย ขณะนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังไม่มีปัญหาการติดเชื้อ ซึ่งการเปิดคลินิกรักษ์ไตได้สร้างความสะดวกให้ผู้ป่วยในการติดตามรักษา ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปกลับ รพ.พหลพลพยุหเสนาที่มีระยะทางห่างไกลกว่าร้อยกิโลเมตร และยังมีเส้นทางคดเคี้ยว
น.ส.ศศิธร กล่าวต่อว่า ในจำนวนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 6 ราย เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 5 ราย และเป็นผู้ป่วยสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะจำนวน 1 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 2 สิทธิจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลและติดตามเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในส่วนน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องนั้น ในกลุ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการจัดส่งไปถึงบ้านผู้ป่วยด้วยระบบ DMIS แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลอย่างพื้นที่บ้านอิต่อง อ.ปิล็อก ซึ่งมีทางคดเคี้ยวกว่าสามพันโค้ง โดยที่นี่มีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 2 ราย เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ 1 ราย และอีก 1 ราย เป็นสิทธิรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะ 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ต้องนำรถมารับน้ำยาล้างไตที่ รพ.ทองผาภูมิ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
น.ส.ศศิธร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมองว่า เป็นทางเลือกในการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งมีคุณภาพและมาตรฐาน และมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากผู้ป่วยสามารถล้างไตเองที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางรับบริการที่โรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยยังสามารถทำเองได้ไม่ต้องรบกวนญาติ ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่มีข้อจำกัด สามารถกินอาหารได้เหมือนคนทั่วไป ต่างจากผู้ป่วยที่ฟอกเลือกต้องจำกัดการทานอาหารบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และในอนาคตหาก รพ.ทองผาภูมิมีศัลยแพทย์ประจำแล้ว คงสามารถเปิดท้องและวางสายล้างไตผ่านช่องท้องได้ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกเพิ่มขึ้น
น.ศ.ศศิธร กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของการฟอกไต ขณะนี้ รพ.ทองผาภูมิอยู่ระหว่างการประเมินโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดตั้งศูนย์ฟอกไตเทียม เนื่องจากในพื้นที่มีคนไข้ไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องรับการฟอกไตซึ่งต้องเดินทางไปรับบริการยัง รพ.พหลพลพยุหเสนา โดยมีจำนวน 16 ราย เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 ราย สิทธิข้าราชการ 4 ราย และสิทธิอื่นๆ อีก 3 ราย ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ภายในปีนี้ ทั้งนี้นอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยฟอกไตลดระยะการเดินทางแล้ว ยังเป็นการรองรับผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องที่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการฟอกไตในอนาคตด้วย
- 266 views