ในช่วงเวลานี้ประเด็นของการขอบรรจุเข้ารับราชการของพยาบาลวิชาชีพ หรือ สหวิชาชีพต่างๆ นั้น แต่ท่านทราบหรือไม่ว่ามีวิชาชีพหนึ่งที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จัก และแทบจะไม่เคยได้รับการจัดสรรตำแหน่งเลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นก็คือ ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาเซลล์วิทยา หรือนักเซลล์วิทยา
ซึ่งสาขานี้ การผลิตคือการรับบุคคลที่จบทางวิทยาศาสตร์บัณฑิต แล้วมาอบรมเพิ่มเติมหลักสูตร นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เซลล์วิทยาอีก 1 ปี ซึ่งเปิดอบรมโดยสถาบันพยาธิวิทยา สังกัด กรมการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะลดอัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูก โดยเปิดการอบรมทั้งหมด 7 รุ่น ณ ปัจจุบันนี้ปฏิบัติงานอยู่จริงในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จำนวน 50 คน ในตำแหน่งพนักงานราชการ, พนักงานกระทรวง และลูกจ้างชั่วคราว
บทบาทหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เซลล์วิทยา หลักๆ คือ ตรวจวินิจฉัยเซลล์วิทยา นรีเวช หรือ PAP Smear โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะถ้าตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรก การรักษาหายขาด เกือบ100 % โดยสิ่งส่งตรวจนี้ได้มาจากการป้ายเซลล์จากปากมดลูก ที่ป้ายโดย สูตินรีแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ส่งมาตรวจจาก รพ.สต. ซึ่งมีภาระงานที่หนักมากเพราะต้องตรวจวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์ตลอดเวลา
สาเหตุที่สายงานนี้ไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการคือ คุณวุฒิในระดับปริญญาตรี ก่อนเข้ารับการอบรมทางเซลล์วิทยา ไม่ใช่วุฒิคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ. แต่ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีอยู่ในกรอบโครงสร้างของโรงพยาบาล ในส่วนของงานเซลล์วิทยา กลุ่มงานพยาธิวิทยากายวิภาค ที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข
แม้ว่าสายงานทางด้านนี้จะมีบุคลากรจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสหวิชาชีพ สาขาอื่นๆ แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เซลล์วิทยา ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่คอยขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ให้สตรีไทยปลอดภัย ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก
- 1347 views