การประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) วันที่ 30 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีเวทีเสวนา “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (PP Excellence) : ขับเคลื่อนจากนโยบาย ยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการแปรนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า การมองภาพเชื่อมโยงแบบองค์รวมน่าจะเป็นอนาคตของงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และมีแนวคิดที่น่าสนใจคือเรื่อง Wheel of Well-Being ที่มองเรื่องสุขภาวะอย่างเชื่อมโยงใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.Body ให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว (Be Active) อย่าหยุดนิ่ง เพราะการมีกิจกรรมทางกายนอกจากส่งผลบวกต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลบวกต่อความคิดความรู้สึกด้วยดังนั้นการเคลื่อนไหวจึงเป็นปัจจัยสำคัญของ Well-being ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
2.Mind ให้ใฝ่รู้ (Keep Learning) เพราะจากการศึกษาพบว่าคนที่ใฝ่รู้มักมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขมากที่สุด เช่น อาจจะฝึกพัฒนางานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากทำอะไรเดิมๆ ทุกประการ ความใฝ่รู้ก็จะลดลง
3.Spirit ให้มีการให้ (Give) การให้ส่งผลทำให้ใจเป็นสุข วัดได้จากความดันโลหิตที่ลดลงและนอนหลับได้ง่าย เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของการให้ควรพัฒนาต่อไปให้ยั่งยืน และควรเป็นการให้ที่มีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ
4.People ควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน (Connect) จากการศึกษาพบว่าการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนใกล้ชิด ช่วยให้มีอายุยืนขึ้นไปอีก 7 ปีเมื่อเทียบกับคนที่มีสัมพันธภาพน้อย และค่าอายุ 7 ปีนี้ มีค่าเท่ากับการหยุดสูบบุหรี่เลยทีเดียว
5.Place ให้มีสติใส่ใจรอบๆ ตัว (Take Notice) เนื่องจากในชีวิตปัจจุบันคนเราทำสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ทำไปด้วยความไม่ใส่ใจ ทำไปอย่างเร่งรีบ ทำให้ให้ใจไม่เป็นสุข แต่หากทำอะไรอย่างใส่ใจก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลง
6.Planet ดูแลรักษ์โลก (Care) การดูแลสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ต่อไป ทำได้จากตัวเราเองง่ายๆ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ปั่นจักรยาน ฯลฯ
“จากการศึกษาใหม่ล่าสุดพบว่าปัจจัยเรื่องยีน การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม 3 ปัจจัยนี้มีผล 60% ต่อ Well-being ของมนุษย์ ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ที่เหลืออีก 40% หากทำได้ทั้ง 6 ประการนี้ข้างต้นก็จะมีผลดีขึ้นและทำได้ทันที ถามว่าทำได้โดยใคร เริ่มจากตัวเราทำ ส่งเสริมให้ครอบครัวทำ ชุมชนทำ สถานประกอบการทำ รัฐบาลท้องถิ่นทำ และทำในระดับชาติ” นพ.ยงยุทธ กล่าว
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า อยากให้โฟกัสเรื่องการสนับสนุนงบหลักประกันสุขภาพในการจัดการปัญหาในพื้นที่โดยให้ท้องถิ่นเป็นคนดำเนินการ เพราะหากรอนโยบายอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ปัญหาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ทัน
นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า ในแต่ละปีมีงบประมาณหมุนเวียนในท้องถิ่นประมาณ 3,500 ล้านบาท เป็นเงินที่ สปสช.สนับสนุนลงไป 2,500 ล้านบาท และท้องถิ่นสมทบอีกประมาณ 1,000 ล้าน รวมทั้งบางส่วนที่มีการบริจาคอีก แต่ทั้งหมดนี้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมากน้อยแค่ไหน กองทุนตำบลในปัจจุบัน เวลาเขียนโครงการก็เขียนแบบปีต่อปี คัดกรองเสร็จแล้วก็จบ แต่คำถามคือทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าต้องคิดในเชิงระบบมากขึ้นและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นพ.จักรกริช ยกตัวอย่างโครงการในปี 2559 มีเสนอของบประมาณถึง 124,000 โครงการ ในจำนวนนี้ไปเน้นเรื่องกลุ่มปัจจัยเสี่ยง 40,000 กว่าโครงการ แต่ผลสำรวจเรื่องความชุกของผู้ป่วยความดัน-เบาหวานกลับเพิ่มขึ้น เป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการส่งเสริมสุขภาพ
“ผมอยากฝากว่า เรามักบอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีคน ไม่มีของ แต่ที่เราไม่เคยบอกเลยคือเรามีภูมิปัญญา เรามีองค์ความรู้ ผมชวนคิดว่าถ้าเราเอากรอบ Six Building Blocks มาจับ แล้วถ้าเราทำสิ่งเหล่านั้นจะเกิดอะไรขึ้น ระบบบริการในชุมชนที่จะเกิดคืออะไร ระบบบริการที่เราใช้กันอยู่มันแก้ปัญหาไหม ถึงเวลาหรือยังที่จะมีรูปแบบบริการใหม่ๆ เช่น Social Enterprise รวมถึงปัญหากำลังคนหรือแม้กระทั่งค่าตอบแทน ทุกวันนี้เราเทไปกับเรื่องการรักษา ดังนั้นมันถึงเวลาต้องคิดใหม่ทำใหม่ ถ้าเรายังใช้กระบวนทัศน์แบบเดิมๆ ปัญหามันไม่ได้รับการแก้ไข” นพ.จักรกริช กล่าว
ด้าน นพ.ทรนง พิลาลัย หัวหน้าฝ่ายจัดการความรู้ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญในเรื่อง PP Excellence คือ การขับเคลื่อนร่วมกัน การมองเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งในส่วนของ สรพ.เอง ก็มีความท้าทายว่าจะมีส่วนหนุนเสริมให้ประชาชนมีอายุที่ยืนยาวและสุขภาพดีได้อย่างไรบ้าง
นพ.ทรนง กล่าวต่อไปว่า สรพ.ขับเคลื่อนด้วยการรับรองคุณภาพ เพราะฉะนั้น ในส่วนของการรับรอง HA จึงใช้แนวคิดในการให้กระบวนการรับรองเป็น Educational Process คือการเรียนรู้ร่วมไปกับการรับรอง และในส่วนของงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น หากพิจารณามาตรฐาน HA แล้วก็จะครอบคลุมทั้งมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานเรื่องการบริหารองค์กร การเฝ้าระวังโรค การส่งเสริมสุขภาพร่วมกับชุมชน
“การนำ PP Excellence ลงไปสู่ระดับการปฏิบัติที่หน้างาน เป็นเรื่องเดียวกับการทำคุณภาพในโรงพยาบาลอยู่แล้ว เพราะ HA จะเป็นโครงสร้างที่บูรณาการเรื่อง HPH เรื่อง Health Promotion ลงไปสู่ตัวมาตรฐาน ดังนั้นการใช้มาตรฐาน HA เป็นโจทย์ในการทำงาน ก็เป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการการส่งเสริมสุขภาพลงไปสู่ทุกส่วนของการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ทำให้มิติของ Health Promotion ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ การจัดการกลยุทธ์ การบูรณาการนโยบายให้เข้ากับบริบทขององค์กร” นพ.ทรนง กล่าว
นพ.ทรนง กล่าวอีกว่า นอกจากการพัฒนาคุณภาพในส่วนของ Health Organization หรือโรงพยาบาลแล้ว สรพ.ยังขับเคลื่อนเชิงเครือข่าย โดยขณะนี้กำลังทำเรื่อง Provincial Network Certification ซึ่งเป็นการรับรองเครือข่ายในระดับจังหวัดในการสนับสนุน Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข
ขณะเดียวกันในปี 2560 นี้ก็จะขับเคลื่อน District Health System Accreditation ซึ่งเป็นการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอ โดยจะเปิดให้เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเข้าสู่กระบวนการรับรองด้วย
- 64 views