ข่าวเรื่องกรมบัญชีกลางจะจัดทำบัตรประจำตัวผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมิได้ระบุชัดเจนว่าจะทำบัตรให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีหรือไม่ แต่จากเนื้อหาข่าวที่ระบุว่าจะทำบัตรราว 5 ล้านใบ แสดงว่าจะทำบัตรให้แก่เด็กที่มีสิทธิทุกคนด้วย
การทำบัตรให้แก่เด็กที่มีสิทธิมีผลในแง่ที่เป็นการอุดช่องว่างของบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำให้แก่ผู้มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเท่านั้น (รัฐบาลให้สิทธิเด็ก 7 ปีขึ้นไป ทำบัตรได้ตามความสมัครใจราว 5 ปีมาแล้ว และมีเด็กไปทำบัตรประจำตัวราว 20%) แต่เป็นความจำเป็นหรือไม่ และสมควรหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
การที่กฎหมายกำหนดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนั้น มีเหตุผลสำคัญทางเทคนิค เพราะเด็กยังอยู่ในวัยเจริญเติบโต ใบหน้าจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ลายพิมพ์นิ้วมือก็ยังไม่นิ่ง ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ภาพถ่ายหรือลาย นิ้วมือในการระบุตัวตน (Identification) การที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องทำบัตรเพื่อนำไปใช้สิทธิในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจึงเป็นเรื่องแปลก
แปลกเพราะทำทั้งที่ควรรู้ว่ามีข้อจำกัด และไม่มีความจำเป็นต้องทำ เพราะในระบบบัตรทอง ซึ่งดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หลายล้านคน รวมทั้งเด็กเกิดใหม่ปีละหลายแสน ก็สามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องทำบัตรแต่อย่างใด โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) โดยใช้สูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้าน ร่วมกับการใช้เลขประจำตัว 13 หลัก
ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ปีละราว 7 แสนคน มีทั้งสิทธิข้าราชการและสิทธิบัตรทอง (มีราวปีละ 3 หมื่นกว่าคน ที่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดภายใน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด) ระบบบัตรทองคุ้มครองสิทธิเด็กตั้งแต่แรกเกิด โดยโรงพยาบาลจะออกใบรับรองการเกิดให้พ่อแม่นำไปแจ้งเกิด และโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีเด็กเกิดจำนวนมากในแต่ละวัน หลายแห่งก็มีหน่วยงานของมหาดไทยไปตั้งเพื่อให้บริการรับแจ้งเกิด และทันทีที่ได้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักก็จะจัดอยู่ในกลุ่ม "สิทธิว่าง" หากพ่อแม่ยังไม่ใช้สิทธิเลือกโรงพยาบาลใดเป็นหน่วยบริการประจำ ทุกสิ้นเดือน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดำเนินการเลือกหน่วยบริการประจำให้ก่อนตามภูมิลำเนาของแม่
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติของบอร์ด สปสช.ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2549 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับเด็กไทยทุกคน หากการเลือกครั้งนั้นไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ปกครอง พ่อแม่สามารถไปเปลี่ยนหน่วยบริการใหม่ให้ตรงกับสถานที่ที่เด็กอาศัยอยู่จริงและยังมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการได้อีกปีละ 4 ครั้ง เพื่อความสะดวกในกรณีย้ายที่อยู่หรือกรณีความจำเป็นอื่นๆ ส่วนเด็กคนใด ที่เป็นลูกของพ่อแม่ที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะไปดำเนินการแจ้งหน่วยเบิกเพื่อให้เกิดสิทธิ
ระบบบัตรประจำตัวประชาชนในปัจจุบันมีพัฒนาการมายาวนาน เท่าที่ทราบปัจจุบันตัวบัตรจัดทำที่กระทรวงมหาดไทย มีระบบควบคุมเพื่อป้องกันการปลอมแปลง และพัฒนาให้เป็นสมาร์ทการ์ดอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายบูรณาการข้อมูลโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2558 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2558 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แบ่งการบูรณาการเป็น 4 ด้าน ได้แก่
(1) ฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
(2) ฐานข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ
(3) ด้านความมั่นคง
และ (4) ฐานข้อมูลด้านทรัพยากรและบริหารโครงสร้างภาครัฐ
มีคณะกรรมการ 4 ชุด แยกกำกับดูแลทั้ง 4 ฐาน
เรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลทุกระบบ อยู่ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน กระทรวงการคลังก็มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ทำไมไม่ศึกษาให้ดีว่าจะใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร แทนที่จะไปสร้างระบบใหม่ ซึ่งนอกจากต้องลงทุนทำบัตรและพัฒนาระบบอีกมาก ตลอดจนต้องดูแลระบบอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการสวนทางนโยบาย "คนไทย 1 ใบก็พอ" อีกด้วย
ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องมีการทำบัตรใหม่และสร้างระบบ "หลังบ้าน" ขึ้นใหม่อีก ก็สามารถพัฒนาการตรวจสอบการใช้สิทธิพร่ำเพรื่อได้เลย ดัง สปสช.เคยดำเนินการใน 8 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 แล้ว และนอกจากระบบ "จับผิด" ตามที่ กรมบัญชีกลางต้องการแล้ว ระบบยังสามารถมีข้อมูลการใช้ยาโดยเฉพาะข้อมูล "การแพ้ยา" เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และยังสามารถตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการใช้สิทธิระหว่างกองทุนหลักๆ 4 กองทุน คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง และสวัสดิการรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ด้วย โดยระบบของ "หน่วยกลางจัดการธุรกรรมด้านการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข" (National Clearing House) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2555
แทนที่จะไปทำบัตรใหม่ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นบัตรฉลาด (น้อย) ไปในทันที กรมบัญชีกลางควรหันกลับมาทบทวนต้นเหตุของค่าใช้จ่ายบานปลาย โดยการอุดรูรั่วใหญ่จะไม่ดีกว่าหรือ
ตัวอย่างเช่น กรณียามะเร็งเต้านม ชื่อ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งเคยใช้รักษาได้ทั้งกรณีมะเร็งระยะแรก และระยะลุกลาม เดิมราคาเข็มละ 7.8 หมื่นบาท แต่ข้อบ่งใช้ที่ผ่านการประเมินความคุ้มค่าให้ใช้ในมะเร็งเต้านมระยะแรก คณะกรรมการต่อรองราคาสามารถต่อรองลงได้เหลือ 4.4 หมื่นบาท โดยมีการสนับสนุนการตรวจยืนยันยีนเฮอร์ทู (HER 2) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 8,000 บาทด้วย (ที่ต้องตรวจยีนเพราะยานี้จะใช้ได้ผล ต้องเป็นมะเร็งชนิดเฮอร์ทูเป็นบวก) ต่อมาบริษัทได้พัฒนายาตัวใหม่ มีชื่อการค้าว่า แคดซัยลา (Kadcyla) ซึ่งเป็นเพียงการต่อเติมให้เป็นอนุพันธุ์ของตัวยาเดิม เป็น อะโด- ทราสทูซูแมบ (Ado-Trastuzumab) มีข้อบ่งใช้ในมะเร็งเต้านมชนิดนี้ในระยะลุกลาม และเพิ่มราคาเป็นเข็มละ 9 หมื่นบาท กรมบัญชีกลางก็ให้สิทธิกับการเบิกจ่ายยาตัวนี้ โดยไม่ผ่านการประเมินด้านประสิทธิผลและความคุ้มค่าอย่างเป็นระบบ และก็ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ กรมบัญชีกลางกำหนดเงื่อนไขเพียงให้ระบุว่าเข้ากรณีใดใน 7 กรณี (เอ ถึง เอฟ) เท่านั้น ก็เบิกจ่ายได้แล้ว ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอีกก้อนโต
กรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่ดำเนินการไปโดยถูกต้องและรอบคอบเพียงพอหรือไม่ เป็นประชานิยมโดยฉลาดน้อยหรือไม่ ถ้ากรมบัญชีกลางไม่จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาให้ตรงจุด แต่กลับไปเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีกเรื่อยๆ จะแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลายได้อย่างไร
ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน
- 26 views