นับถอยหลังอีก 8 ปี คือภายในปี 2568 โครงสร้างประชากรไทยจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ
ว่ากันเฉพาะในพื้นที่จำกัดแค่ “อำเภอเมือง” จ.ตาก เพียงอำเภอเดียว พบว่าจากประชากรทั้งหมดราวๆ 7.3 หมื่นคน เป็นผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) มากกว่า 1.1 หมื่นคน หรือประมาณ 14-15%
สถิติดังกล่าวสะท้อนว่า หากไม่มีมาตรการล้อมคอกปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัยทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างจริงจัง ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหา “ค่ารักษาพยาบาล” อย่างรุนแรง
‘แผลกดทับ’ ความทุกข์สาหัสของผู้สูงอายุ
หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบมาก และที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จในการดูแลก็คือ “แผลกดทับ” โดยผู้สูงอายุที่ป่วยส่วนใหญ่มักจะพบว่าแผลของตัวเองหายช้า และเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดแผลใหม่
แผลกดทับเป็น “ภาวะแทรกซ้อน” ที่เกิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว สาเหตุคือเป็นแผลที่เกิดจากการกดทับบริเวณหลอดเลือดฝอยเป็นเวลานาน จนทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง
ที่สุดแล้วเกิดการตายของเนื้อเยื่อและผิวหนัง ก่อนจะเริ่มบวมและมีน้ำขังจนกลายเป็นแผลพุพองและกลายเป็นแผลถลอก ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยแผลกดทับนั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ทุกข์ทรมานอย่างไม่รู้จบ
กานต์ชนิต เทอดโยธิน
กานต์ชนิต เทอดโยธิน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านชะลาด ต.ป่าม่วง อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสภาพความเดือดร้อนของผู้ป่วยแผลกดทับมาตลอดชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยยากจนที่เข้าไม่ถึงทางเลือกในการรักษา จึงตัดสินใจทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากรที่มีอย่างหมดหน้าตัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปลดเปลื้องความทุกข์เหล่านั้น
‘ที่นอนน้ำ’ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
“ที่นอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ผ่านมาเวลามีผู้ป่วยก็จะต้องไปขอยืมที่นอนลมจากโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งบางครั้งก็มีให้บางครั้งก็ไม่มี ดิฉันอยากจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่จึงไปชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คนในชุมชน แม่บ้าน มาระดมสมองหาทางแก้ไข”
“เมื่อไปหาข้อมูลทางวิชาการก็พบว่าที่นอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับก็คือ “ที่นอนน้ำ” ซึ่งต่างประเทศเป็นผู้ผลิต เราจึงนำแนวคิดดังกล่าวมาทำวิจัยจนพบว่าสามารถนำถุงสำหรับใส่ปัสสาวะพีวีซีมาใส่น้ำแล้วร้อยกันเป็นที่นอนก็มีคุณสมบัติไม่แตกต่างไปจากของต่างประเทศ”
“ความสำเร็จแรกก็คือแผลของผู้ป่วยทุกเคสที่ใช้ที่นอนน้ำหายสนิทหมด แต่ปัญหาที่พบก็คือถุงพีวีซีเหล่านั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศและไม่มีความทนทาน จึงหันกลับมามองว่าในประเทศไทยมีวัสดุใดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้บ้าง” กานต์ชนิต ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม “ที่นอนน้ำยางพาราเพื่อป้องกันแผลกดทับ” ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับประเทศ
เธอเล่าต่อว่า เมื่อต้องการต่อยอดคุณภาพจากวัสดุภายในประเทศ จึงนำงานวิจัยไปยื่นต่อองค์กรและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 22 แห่ง แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจแม้แต่น้อย สุดท้ายจึงตัดสินใจยื่นไปที่การยางแห่งประเทศไทย และเป็นที่นั่นเองที่ตอบรับและพร้อมให้การสนับสนุน
“ดิฉันได้ขอคำปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำยางพารามาใช้ทำที่นอนน้ำและได้เสนอโครงการและรูปแบบของที่นอนน้ำไป ซึ่งการตอบรับเป็นไปอย่างดีจนกระทั่งโครงการผ่านและสามารถผลิตที่นอนน้ำยางพาราในลักษณะคล้ายคลึงกับถุงพีวีซีได้”
“แต่นั่นก็ยังไม่สำเร็จ เราพบปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น ที่นอนเป็นร่องต้องออกแรงเย็บเพิ่ม หรือเรื่องกาว คือเมื่อสิ้นโครงการไปแล้วเราก็ยังทำไม่สำเร็จ ตอนนี้ที่ได้คือที่นอนเป็นลอนยาว ช่วยระบายความร้อนได้ดี ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราต้องการ เพียงแต่ยังใช้ได้ไม่นาน ยังมีปัญหารั่วซึม”กานต์ชนิต ฉายภาพอุปสรรคในการพัฒนา
เธอแสวงหาข้อมูลและงานวิจัยด้วยตัวคนเดียวอีกมากมาย จนกระทั่งพบว่าทางออกของปัญหาคือต้องใช้วัสดุที่เป็นยางพารา 100% เธอจึงตัดสินใจขอความอนุเคราะห์จาก “โรงงานทำจุกนม” ซึ่งทั้งประเทศไทยมีเพียง 3 โรงงานเท่านั้น
“ปรากฏว่ามีอยู่ 1 โรงงานที่เราไปขอความอนุเคราะห์แล้วเขาพร้อมจะช่วยเหลือ นั่นเพราะพ่อของเขาก็กำลังป่วยจึงเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วย สุดท้ายเราก็สามารถแก้ปัญหาในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้ ดิฉันจึงส่งผลิตภัณฑ์ใหม่นี้กลับไปให้การยางแห่งประเทศไทยทดสอบมาตรฐานอีกครั้ง ซึ่งเราก็ผ่านมาตรฐาน จึงนำไปขึ้นทะเบียนอนุสิทธิบัตรและทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ไทยเป็นที่เรียบร้อย” พยาบาลวิชาชีพรายนี้ ระบุ และนั่นเองคือความสำเร็จของการคิดค้นนวัตกรรม
อย่างไรก็ดี สำหรับ “กานต์ชนิต” แล้ว เพียงแค่คิดค้นคงยังไม่พอ เธอได้ทุ่มงบประมาณทั้งเงินเดือน และกู้เงินจากแหล่งทุนเพื่อ “พัฒนา” นวัตกรรมให้สมบูรณ์ยิ่ง และได้ค้นพบอีกว่าผ้าที่หุ้มข้างนอกควรใช้ “ผ้าย้อมคราม” เพราะมีงานวิจัยหลากหลายเล่มช่วยยืนยันคุณสมบัติรักษาแผล ลดการระคายเคือง ยับยั้งแบคทีเรีย
‘ความสำเร็จ’ ที่ไม่มีใครให้ความสนใจ
แน่นอนว่าความสำเร็จของ “กานต์ชนิต” คือความสำเร็จของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย แต่ทว่าสิ่งที่ “กานต์ชนิต” กำลังเผชิญอยู่กลับค่อนข้างโหดร้ายสำหรับเธอ
“ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาเลย คือเราต้องเดินคนเดียว พุ่งไปคนเดียว ที่นอนน้ำนี้เคยชนะการประกวดนวัตกรรมที่ 1 ของประเทศ แต่ก็ไม่มีใครมาช่วยสนับสนุนให้เป็นที่รู้จัก ไม่มีใครมาช่วยประชาสัมพันธ์ ไม่มีการส่งเสริมให้ใช้ภายในประเทศ โดยปัญหาทุกวันนี้คือต้นทุนการผลิตสูงมาก หากในประเทศช่วยกันใช้ก็จะทำให้ต้นทุนลดต่ำลงและประชาชนคนยากจนสามารถเข้าถึงได้ จึงอยากขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยกันใช้มากๆ” กานต์ชนิต ระบุ
เธอ เล่าอีกว่า ที่ผ่านมาพยายามวิ่งหางบประมาณด้วยตัวเอง บางที่ก็พบว่าเขาไม่มีงบสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ บางที่ก็มีข้อจำกัดให้ต้องร่วมวิจัยกับหน่วยงานก่อนโดยต้องร่วมออกงบประมาณด้วยครึ่งหนึ่ง บางที่ก็บอกนวัตกรรมนี้เป็นสิ่งใหม่มากจนไม่รู้ว่าจะเข้าเกณฑ์ประเภทใดเพื่อให้ทุน ฯลฯ
“ในขณะที่ในประเทศไม่ให้ความสนใจ มีตัวแทนจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อโดยเสนอว่าจะขอนำที่นอนน้ำไปให้นักฟิสิกส์ทดสอบ หากผ่านมาตรฐานก็จะทำตลาดและส่งเสริมการขายให้ เพียงแต่เขาขอเป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรด้วยครึ่งหนึ่ง”
“ดิฉันไม่ยอม เพราะคิดว่านี่เป็นองค์ความรู้ของคนไทย เป็นผลงานของคนไทยสำหรับประเทศเรา ถ้าเรายอมให้เขา เขาก็จะรู้สูตรแล้วพัฒนามาขายเราอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายเลยปฏิเสธเขาไปโดยให้เหตุผลว่านี่เป็นสมบัติของประเทศไทย ไม่ใช่ของฉันเพียงคนเดียว” พยาบาลวิชาชีพรายนี้พูดชัด
สำหรับช่องทางการสั่งซื้อ “นวัตกรรมที่นอนน้ำเพื่อสุขภาพ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อโดยตรงได้ที่ “กานต์ชนิต” ผ่านทางอีเมลล์ sogood-sogoodka@hotmail.com
- 2479 views