ความน่าวิตกของสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย นอกจากมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยถึงปีละ 13,000 คน และมีผู้พิการสะสมอีกปีละ 100,000 คน ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศจำนวน 254,935 ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.6% ของ GDP ยังพบว่าอุบัติเหตุทางถนนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีโดยเฉพาะเด็กเล็กนั้นมีตัวเลขที่สูงน่าตกใจ
จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ จำนวน 33 แห่ง ในปี พ.ศ. 2553 – 2556 พบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีสถานะเป็นผู้โดยสารด้วยรถยนต์ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจำนวน 15,843 ราย หรือเฉลี่ยปี ละ 4,000 คน
เมื่อพิจารณาตามประเภทรถพบว่าเด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการโดยสารรถปิกอัพ 1,948 ราย หรือร้อยละ 12.30ของเด็กที่บาดเจ็บรุนแรง และจากการโดยสารรถเก๋ง 433 ราย หรือร้อยละ 2.73 ของเด็กที่บาดเจ็บรุนแรง และมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตเฉลี่ยปี ละ 524 ราย หรือร้อยละ 3.31 ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
บทเรียนจากประเทศกรีซ มีการศึกษาพบว่าเด็กอายุ 0-11 ขวบที่นั่งโดยสารตรงเบาะนั่งด้านหน้า และไม่ได้ใช้ที่นั่งเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่ากลุ่มที่นั่งด้านหลัง และใช้เบาะนั่งนิรภัยถึง 5 เท่าตัว
องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าเบาะนิรภัยสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกได้ถึงร้อยละ 70 และร้อยละ54-80 สำหรับเด็กโต ในปัจจุบันประเทศทั่วโลกมากกว่า 96 ประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มีการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ แม้ว่าหลายประเทศได้มีการดำเนินการในการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์แล้วก็ตาม โดยประมาณการว่าทั่วโลกมีอัตราการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์เพียงร้อยละ 32 ของประชากรทั่วโลกเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยจากการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การคาดเข็มขัดนิรภัยการกำหนดอัตราความเร็ว และการใช้หมวกนิรภัย แต่ยังไม่มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ โดยประมาณการอัตราการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เนื่องจากเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์มีราคาสูง และประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์
ในสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาเกี่ยวกับอุบัติเหตุในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 11 ปี จำนวน 5,972 ราย พบว่าเด็กที่ไม่ได้รับการยึดเหนี่ยวไว้จากเบาะนั่งนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงเป็น 2 เท่าของเด็กที่ถูกยึดเหนี่ยวไว้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้เด็กอายุ 0-11 ปี จำนวน 129 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และถูกนำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลพบว่าเด็กที่นั่งโดยสารเบาะด้านหน้ารถยนต์ และไม่ได้ใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรง สูงถึง 5 เท่าของเด็กที่นั่งเบาะหลังของรถยนต์และใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก
ดังนั้นแสดงว่าการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ได้ถึง 5 เท่า ความสำคัญของเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์นั้นจึงมีมาก หากลูกของเรามีอายุไม่เกิน 9 ปี ที่นั่งหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็กจะช่วยปกป้องชีวิตของเด็ก และที่สำคัญคือที่นั่งหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมีหลายชนิดและหลายขนาดต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเด็กตามวัยและขนาดของร่างกาย
ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ต้องใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับทารกโดยต้องติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยไว้ที่เบาะหลังของรถยนต์ โดยหันหน้าไปทางด้านหลังรถเท่านั้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะ ในขณะที่เกิดการชนหรือรถเบรกอย่างรุนแรง
เด็กอายุ 1-3 ปี ยังคงใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับทารกของบางบริษัทได้ โดยให้ติดตั้งเบาะนิรภัยไว้ด้านหลังของรถยนต์ และให้หันหน้าไปทางด้านหลังรถตราบเท่าที่ขนาดตัวเด็กไม่สูงเกินเบาะนั่งนิรภัย หรือมีน้ำหนักตัวไม่เกินตามที่บริษัทกำหนดไว้ หากขนาดตัวและน้ำหนักของเด็กเกินกว่าข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตแล้ว สามารถเปลี่ยนไปใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กซึ่งต้องติดตั้งไว้ที่เบาะด้านหลังของรถยนต์เหมือนเดิม แต่จะหันเบาะนิรภัยไปทางด้านหน้ารถ
เด็กอายุ 4-7 ปี ให้ใช้เบาะนั่งเด็กนิรภัยสำหรับเด็กเล็กต่อไปจนตัวสูงหรือนํ้าหนักเกินกว่าข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต จึงเปลี่ยนมาเป็นเบาะนั่งเสริม (booster seat) ซึ่งจะไม่มีเข็มขัดนิรภัยที่ติดกับเบาะนิรภัยมาด้วย แต่จะใช้เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวตัวเด็กแทน โดยยังคงติดตั้งไว้ที่เบาะด้านหลังของรถยนต์เหมือนเดิม
เด็กอายุ 8-12 ปี ควรใช้เบาะนั่งเสริม (booster seat) จนกว่าสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี โดยทั่วไปเด็กที่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี โดยไม่ต้องใช้เบาะนั่งนิรภัยควรมีอายุมากกว่า 9 ปี ขึ้นไป
เก็บความจาก
ศิริกุล กุลเลียบ และคณะ.คู่มือการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ สำหรับผู้ปกครอง. ขอนแก่น: โครงการพัฒนาศักยภาพและเสริมพลังเครือข่ายแผนสอจร. สำนักงานสอจร.โรงพยาบาลขอนแก่น, 2558
ขอบคุณรูปภาพจาก: www.csip.org
- 82 views