แพทย์แจงการตรวจสอบเบิกจ่ายเป็นเกราะป้องกันหมอ แนะราชวิทยาลัยควรชี้แจงเมื่อเวชระเบียนไม่ชัดเจน
นพ.นิรันดร์ ชัยศรีสุขอำพร นายแพทย์เชี่ยวชาญสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ว่า การตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์นั้น มีมาประมาณ 20 ปีแล้ว และมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงแรกยังไม่มีเกณฑ์การตรวจสอบที่มากนัก โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการตรวจสอบในเรื่องของแนวทางการวินิจฉัยโรคของแต่ละหน่วยบริการ กระทั่งเริ่มมีระบบของการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ตามเกณฑ์ของการวินิจฉัย การตรวจสอบจึงต้องเข้มข้นขึ้นนับจากนั้นมา
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ ถือเป็นข้อมูลอันสำคัญของการวินิจฉัยโรคที่จะช่วยในการจัดทำบัญชีการเบิกจ่ายว่าตรงกับการรักษามากน้อยเพียงใด และสอดรับกับงบประมาณที่ได้จัดสรรให้แต่ละหน่วยบริการหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่างบประมาณในการจัดสรรให้หน่วยบริการมีจำกัดนั้น บางแห่งมีการเบิกค่าชดเชยไปมาก แต่ก็อาจไม่ตรงกับความจริง ซึ่ผลดังกล่าวจะทำให้ลดทอนงบประมาณหน่วยบริการอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบที่จริงจัง
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เกณฑ์การตรวจสอบถูกกำหนดออกมาจากราชวิทยาลัยทางการแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ในระหว่างทุกๆ 2 ปี ก็จะมีการปรับปรุงเกณฑ์การตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เวชระเบียนของหน่วยบริการแต่ละแห่งมีความสมบูรณ์ในการตรวจสอบ
"ผู้ที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ไม่ใช่มีเพียงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ยังมีประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ซึ่งเข้าร่วมตรวจสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายมีความเป็นธรรม" นพ.นิรันดร์ กล่าว
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบเป็นข้อดีอย่างยิ่ง เพราะทำให้สะท้อนผลการรักษาผู้ป่วยได้อย่างดี รวมถึงในบางครั้งจะมีการตรวจสอบว่าหน่วยบริการได้ทำการรักษาเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือมีการลงรายละเอียดการรักษาที่สมบูรณ์หรือยัง เพราะทั้งหมดจะถูกประมวลความสมบูรณ์เพื่อใช้ในการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ หากเวชระเบียนไม่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบก็จะช่วยดูเพื่อส่งกลับให้บันทึกให้สมบูรณ์ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าชดเชยได้
นพ.นิรันดร์ กล่าวเสริมว่า การตรวจสอบจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปกป้องแพทย์ด้วยกันเอง เพราะอย่าลืมว่ายังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเวชระเบียนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ที่หากมีข้อสงสัยในเรื่องการรักษา บริษัทประกันก็มีสิทธิ์ปฏิเสธไม่เบิกจ่ายค่าชดเชยให้ หรือสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันอีกด้วย เพราะไม่ได้มีการอธิบายการรักษาที่ครอบคลุม ดังนั้น ความสมบูรณ์ของเวชระเบียนในการรักษาจึงมีความสำคัญอย่างมาก
"การตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอยู่บ้าง โดยเฉพาะประเด็นการรายงานผลวินิจฉัยที่ต้องมีความชัดเจน และอ้างอิงจากสิ่งใด ซึ่งทั้งหมดอ้างอิงมาจากราชวิทยาลัยทางการแพทย์ทั้งนั้น และหากมีปัญหาในเรื่องความชัดเจน บุคคลากรที่เป็นอาจารย์ในราชวิทยาลัย ควรจะต้องออกมาชี้่แจงในแต่ละประเด็น เพื่อให้บุคคลากรในหน่วยบริการมีความรู้ และความเข้าใจในการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เป็นมาตรฐานเดียวกัน" นพ.นิรันดร์ ให้ความเห็น
- 9 views