การส่งเสริมให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นวาระสำคัญอันดับหนึ่งในการประชุมสุดยอดเวิลด์เฮลธ์ซัมมิต (World Health Summit) ที่กรุงเบอร์ลินของประเทศเยอรมนี แต่วิธีนี้จะช่วยปรับปรุงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ยากไร้ได้จริงหรือ
นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของประชากรโลกมีความจำเป็นขึ้นทุกที หากแต่กุญแจสำคัญกลับอยู่ที่การเปิดให้เข้าถึงนวัตกรรมที่มีราคาไม่แพง ภาพ: World Health Summit
เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ได้นำเสนอบทความสุขภาพว่าด้วยข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ของโลกปัจจุบัน อันเป็นวาระที่โดดเด่นในการประชุมสุดยอดเวิลด์เฮลธ์ซัมมิต (World Health Summit) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
สิ่งบ่งชี้ถึงความไม่เท่าเทียมกันของประชากรโลกประการหนึ่งคือสิทธิในการรักษาพยาบาล ดังที่มีประชากรวัย 60 และ 70 ปีในประเทศร่ำรวยสามารถใช้เทคโนโลยีสุดล้ำพยุงให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งต่างจากประเทศยากไร้ที่มีสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตปีละหลายแสนคน เพราะใช้น้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ
และนั่นเป็นสิ่งที่การประชุม World Health Summit ซึ่งชูนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นหนึ่งในวาระสำคัญพยายามไขคำตอบ ดังที่มีการแถลงเปิดประชุมไว้ว่า “แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทว่ากลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เหมาะสมและมีราคาไม่แพง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต”
ถ้อยแถลงดังกล่าว สะท้อนถึงการตระหนักในปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข แต่ก็น่ากังขาว่านวัตกรรมที่ดีขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุขและการเข้าไม่ถึงประโยชน์ของนวัตกรรมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างไร จริงอยู่ที่นวัตกรรมสำหรับยกระดับสุขภาพประชากรโลกมีความจำเป็นขึ้นทุกทีเพื่อที่จะรับมือกับการรุมเร้าของโรคอุบัติใหม่ตั้งแต่อีโบลาเรื่อยไปจนถึงซิกา รวมไปถึงโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับไปมองนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับโรคอีโบลา ก็พบว่าการเข้าถึงนวัตกรรมการแพทย์เหล่านั้นมีข้อจำกัด
ดังกรณีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 อันเป็นช่วงที่ไวรัสอีโบลากำลังสะพัดไปทั่วฝั่งตะวันตกของแอฟริกา องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติเครื่องตรวจอีโบลาซึ่งสามารถร่นระยะเวลาตรวจจากเดิม 5 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง แต่ปัญหาอยู่ที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกขาดทั้งงบประมาณที่จะจัดซื้อเครื่องตรวจซึ่งมีราคาสูงถึง 40,000 ดอลลาร์ และทักษะในการใช้งาน ต่างจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเครื่องตรวจอีโบลาดังกล่าวประจำอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง
หรือกรณีที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยและสาธิตประสิทธิภาพของชุดตรวจวัณโรคใหม่ในบริบทการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในช่วงปี 2554-2555 แต่ด้วยราคาที่สูงจึงทำให้หลายประเทศไม่สามารถใช้ได้ กว่าที่ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวจะกระจายไปถึงผู้ที่จำเป็นที่สุดได้ ก็ต้องอาศัยทั้งเวลาและกระบวนการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่ออุดหนุนราคาชุดตรวจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 145 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรค
ผู้เขียนชี้ว่าตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนน้อยของความจริงที่ว่า ผู้ยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นที่สุด ปัญหานี้นำมาสู่ข้อกังขาว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านการแก้ไขปัญหาสุขภาพนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นผลจากการขาดแคลนนวัตกรรม หากแต่เป็นผลพวงมาจากการไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมต่างหาก และปัญหานี้เกี่ยวโยงไปถึงนโยบายด้านการเมืองและเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นปัจจัยกำหนดงบประมาณสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ทรัพยากรและการสนับสนุน รวมไปถึงผู้ดำเนินการและผู้ได้รับผลประโยชน์
สำหรับทางออกของปัญหานี้ ผู้เขียนเสนอว่าต้องอาศัยทั้งการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยี และแก้ไขนโยบายการเมืองไปพร้อมกัน มีความจำเป็นต้องหาช่องโหว่และทดสอบแนวคิดใหม่ที่สามารถแก้ไขความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุขที่ประชากรกลุ่มเสี่ยงต้องเผชิญมาเป็นระยะเวลานาน พร้อมกับต้องระดมหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวใช้ได้จริง
ฟากผู้นำการเมืองเองก็ต้องยืนยันว่าแนวทางแก้ไขใหม่จะครอบคลุมถึงผู้ที่มีความจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมสุขภาพมากที่สุด รวมถึงผู้ที่มีแนวโน้มจะถูกกันออกจากประโยชน์ของนวัตกรรมดังกล่าว และในการจะไปให้ถึงจุดหมายนั้นควรที่จะศึกษาจากผลงานขององค์กรต่างๆ เช่น โครงการแอคเซสทูเม็ดดิซิน (Access to Medicines) ของ MSF รวมไปถึงเหล่าผู้บุกเบิกวงการแพทย์ตั้งแต่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลเรื่อยมาจนถึงจอห์น สโนว์ (John Snow : แพทย์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคในเขตโซโฮของลอนดอนในปี ค.ศ. 1854) ซึ่งกรำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเพื่อที่จะมั่นใจว่าแนวคิดของพวกเขาเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความจำเป็นที่สุด
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้แทนในการประชุม World Health Summit ควรตระหนักถึงจิตวิญญาณของเหล่าผู้บุกเบิกซึ่งหลอมรวมทั้งการพัฒนาด้านการแพทย์และความทุ่มเทด้านการเมือง อีกทั้งจะต้องไม่ลืมว่าข้อเรียกร้องให้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ที่ดีขึ้นและหลากหลายมากขึ้นจะต้องสำทับด้วยคำประกาศที่ย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงปัจจัยเสริมและไม่สามารถเข้ามาแทนที่การดำเนินการทางการเมือง
เรียบเรียงจาก
เว็บไซต์เดอะการ์เดียน: Healthcare innovations won’t cure global health inequality – political action will.
- 286 views