สสส.เปิดชุมชนจักรยานต้นแบบหนองไม้แก่น ดึงพลังบวร ‘บ้านชุมชน-วัด-โรงเรียน’ เปลี่ยนจักรยานขยะ สู่การใช้ประโยชน์ของคน 3วัย ผ่านศูนย์คลินิกจักรยานชุมชน-ธนาคารจักรยาน ตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 64 นักวิชาการ ชี้ 4 ปัจจัยเอื้อให้เกิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยาน “ผู้นำท้องถิ่นหนุน-ชุมชนขานรับ-ภาครัฐเห็นดี-ภาคีใส่ใจ”
นายอารดินทร์ รัตนภู ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพภาคีและติดตามสนับสนุนชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงโครงการชุมชนจักรยานหนองไม้แก่น ปั่นปลอดภัย ร่วมใจสร้างสุขภาวะ ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรีว่า ชุมชนบ้านหนองไม้แก่น มีทุนเดิมในพื้นที่ที่เข้มแข็งคือ การทำงานร่วมกันของ “บวร” บ้านชุมชน วัด และโรงเรียน โดยมีวัดหนองไม้แก่นเป็นศูนย์กลางของชุมชน ร่วมกับแกนนำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนทำให้เกิดการต่อยอดกับโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเพื่อให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นผู้ใช้จักรยานพื้นฐานในพื้นที่พบปัญหาการขาดแคลนจักรยานจึงเป็นที่มาของศูนย์คลินิกจักรยานชุมชน โดยวัดหนองไม้แก่น ขอรับบริจาคจักรยานมือสองที่เสียไม่ใช้แล้วมาซ่อมเป็นขยะเพิ่มมูลค่าให้สามารถใช้การได้ และเกิดอาสาซ่อมโดยหลวงพี่และชาวบ้านในชุมชนเรียนรู้การเป็นช่างซ่อมจากวิทยาลัยสารพัดช่าง จนเกิดธนาคารจักรยานของชุมชนในวัด
นายอารดินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีจักรยานให้บริการถึงกว่า 100 คัน แก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนยืมใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้บริหารเทศบาลตำบลหนองลานยังร่วมสนับสนุนเส้นทางสัญจรเอื้อต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยจากโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ในชุมชน และวัด รวมทั้งมีการคัดเลือกบุคคลต้นแบบที่มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใช้จักรยาน พร้อมกับเจ้าอาวาสจะเชิญชวนให้คนในชุมชนใช้จักรยาน และบอกถึงคุณประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับธรรมะตามหลักพุทธศาสนาโดยเน้นการสร้างคน ร่วมกับการสร้างความยั่งยืนของกิจกรรมที่ลงมือทำควบคู่กัน ซึ่งในปี 2559 สสส.ได้ส่งเสริมให้เกิดชุมชนที่เป็นมิตรต่อคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอีก 99 ชุมชน เป็นการตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ11 ปีขึ้นไปไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2564
พระครูกาญจนธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แก่นกล่าวว่าสาเหตุที่ทำเรื่องคลินิกจักรยานและธนาคารจักรยาน เริ่มจากโครงการคัดแยกขยะและธนาคารขยะที่วัด ทำให้มีซากรถจักรยานจอดรอบวัดและเห็นว่ามีผู้สูงอายุมาออกกำลังกายเป็นประจำช่วงตี 5 จึงคิดว่าน่าจะเอางานผู้สูงอายุและงานจักรยานมาร่วมกันเลยเรียกประชุมและประกาศขอรับบริจาคซากจักรยานเพื่อนำมาซ่อม ซึ่งเริ่มแรกนำเงินที่ได้จากธนาคารขยะเป็นทุนในการซ่อม ทำให้มีจักรยานตั้งต้น 30 คัน จึงตั้งเป็นธนาคารจักรยานและคลินิกจักรยานเพื่อให้คนที่ต้องการจักรยานนำไปใช้ออกกำลังกาย หรือจักรยานที่บ้านเสียนำมาซ่อมที่วัด ระหว่างนี้ก็เอาจักรยานที่วัดไปใช้ และมีความร่วมมือระหว่างวัด บ้าน ราชการ โรงเรียน โดยคิดต่อยอดให้โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนำจักรยานยืมไปใช้ รวมถึงการจัดกิจกรรม “ปั่นสะอาด” เพื่อดึงคน 3 ช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุ คนในชุมชน และเยาวชนมาร่วมปั่นจักรยานเก็บขยะในชุมชน เป็นต้น ความร่วมมือของพลังบวรทำให้ในชุมชนเกิดความสามัคคี ปรองดองกันมากขึ้น
นายนราธิป สุภาราญ รองนายกเทศมนตรีหนองลานกล่าวว่าเทศบาลตำบลหนองลานได้ขับเคลื่อน “โครงการชุมชนจักรยานบ้านหนองไม้แก่น ปั่นปลอดภัย ร่วมใจสร้างสุขภาวะ”ร่วมกับวัดหนองไม้แก่นที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานในชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมโดยการจัดตั้งคณะทำงานและจัดประชุมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นำเสนอข้อมูลเรื่องการใช้จักรยานและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของคนในชุมชน มีการออกแบบกิจกรรมที่หนุนเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ เช่นจัดรณรงค์ปั่นจักยานในระยะทางที่ใกล้ปลอดภัยและประหยัด จัดทำป้ายรณรงค์เส้นทางปลอดภัยในการใช้จักรยานในชุมชน จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการใช้จักรยานและการซ่อมบำรุงเบื้องต้น/กฎจราจร จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสร้างสรรค์โดยใช้จักรยานเป็นสัญลักษณ์ในกลุ่มเด็ก เยาวชน วัยทำงานและผู้สูงอายุในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย วิทยุชุมชน ติดป้ายรณรงค์ เพื่อเชิญชวนให้ชุมชนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน รวมทั้งจัดเวทีประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนต่อการใช้จักรยานในการเดินทาง เช่น จำนวนผู้ใช้จักรยานในชุมชน แนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน เป็นต้น เริ่มแรกมีจักรยานเข้าร่วม 80 คัน ปัจจุบันมีจักรยานเข้าร่วม 220 คัน (ยังมีผู้เข้าร่วมขึ้นทุกๆ วัน)ประชาชนในชุมชนมีการตื่นตัวให้การตอบรับและให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า สัดส่วนการใช้จักรยานในประเทศไทยมีรูปแบบเป็น “สามเหลี่ยมปิรามิด” ส่วนยอดของปิรามิดคือ นักแข่งจักรยาน ตามด้วยนักปั่นจักรยานที่มีอุปกรณ์พร้อม ส่วนอีก 50 ล้านคนคือชาวบ้านทั่วไป การทำงานจึงมุ่งแก้ที่ฐานปิรามิดคือคน 50 ล้านคน ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดเมืองหรือชุมชนที่เป็นมิตรต่อคนใช้จักรยานที่ประสบผลสำเร็จ มี 4 ปัจจัย คือ ผู้นำท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ชุมชนขานรับ หน่วยงานภาครัฐเห็นดี และภาคีใส่ใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน เช่น การติดป้ายใช้ความเร็วไม่เกิน 30 ก.ม./ชม. การมีลูกระนาดในย่านโรงเรียน ตลาด ทำให้ผู้ใช้จักรยานรู้สึกถึงความปลอดภัยการออกเทศบัญญัติกำหนดเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะโครงสร้างระบบพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและจำเป็นต่อชุมชนจริงๆ หรือการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์มีความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน เป็นต้น
- 68 views