เภสัชกร รพ.สมุทรสาคร ไอเดียสุดล้ำ! งัด “7 เครื่องมือวิถีชุมชน” ติดตามผู้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ขอบคุณภาพจาก sankofaonline.com
ภญ.ดวงแก้ว อังกูรสิทธิ์ เภสัชกรโรงพยาบาลสมุทรสาคร นำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิถีชุมชนในการติดตามการใช้ยา : กรณีศึกษาผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟารินในเขต ต.ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ภายในการประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ : เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560
ภญ.ดวงแก้ว เปิดเผยว่า ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งในเขต ต.ท่าฉลอม มีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวัดที่ต้องใช้ยาชนิดดังกล่าวจำนวน 4 ราย อายุเฉลี่ย 71.75 ปี ขนาดที่ใช้อยู่ที่ 12-25.5 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ โดยทุกคนมีค่าความแข็งตัวของเลือด (INR) อยู่ในเป้าหมายของการรักษา และไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด จึงเริ่มทำการศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายนี้
ภญ.ดวงแก้ว กล่าวว่า ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ข้อมูลการใช้ยาระดับบุคคล ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จัดยารับประทานด้วยตัวเอง ใช้ยาวาร์ฟารินมานานกว่า 1 ปี โดยยาชนิดนี้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกินบ่อยทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงจากการใช้ยา โดยเฉพาะกรณีฉลากไม่ตรงกับวิธีการใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ และยังพบอีกว่ามีบางรายปรับเปลี่ยนวิธีการกินยาเอง ซึ่งมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่จัดระบบแจ้งเตือนการกินยาให้ตัวเอง
สำหรับการศึกษาในส่วนที่ 2 คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากข้อมูลระดับบุคคลข้างต้น และอ้างอิงปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถแบ่งเครื่องมือศึกษาชุมชนออกเป็น 7 แห่ง ทั้งนี้ ประกอบด้วย
1.แผนที่เดินดิน ซึ่งทำให้ทราบการกระจายตัวของบ้านของผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน และเพื่อทราบตำแหน่งในการเยี่ยมบ้าน โดยใช้โปรแกรม google map พร้อมรูปบ้านของผู้ป่วยจากมุมมอง street view
2.ผังเครือญาติ ช่วยระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟารินกับผู้ดูแลหลักที่ช่วยดูแลการกินยาให้ผู้ป่วย
3.โครงสร้างองค์กรชุมชน เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคม ทำการค้นหาต้นทุนของชุมชน เพื่อขอความร่วมมือในการสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและในระดับท้องถิ่น และร่วมกับกลุ่มพลังสตรีท่าฉลอมทำหน้าที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
4.ระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในชุมชนที่ผู้ป่วยมีโอกาสไปขอรับบริการทั้งในคลินิกแพทย์ ทันตแพทย์ ร้านขายยา คลินิกแพทย์แผนไทย และศูนย์สุขภาพชุมชนท่าฉลอม โดยขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังการทำหัตถการที่ทำให้เกิดเลือดออกง่าย และการใช้ยาร่วมกันเนื่องจากยาที่ใช้อยู่มีโอกาสเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่ผู้ป่วยได้รับหรือซื้อใช้เอง โดยผู้ป่วยจะมีการพกสมุดประจำตัวสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟารินติดตัว
5.ปฏิทินชุมชน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการรับประทานยาวาร์ฟารินจะพบว่าอาชีพหลักคือการทำประมงและการรับจ้าง อาจส่งผลต่อความไม่สามารถมาพบแพทย์ตามนัด หากผู้ป่วยต้องออกเรือไปต่างถิ่น
6.ประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่ามีผู้ป่วยต่างชาติที่จำเป็นต้องใช้ยาวาร์ฟาริน ส่งผลให้ต้องมีการประสานงานกับล่ามเพื่ออธิบายวิธีกินยาและการจัดทำฉลากยาภาษาต่างประเทศเพื่อความเข้าใจในการใช้ยาวาร์ฟาริน
7.ประวัติชีวิตของบุคคลที่น่าสนใจ เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการ
ภญ.ดวงแก้ว กล่าวว่า จากผลการศึกษาข้างต้นทำให้ทราบสถานการณ์การใช้ยาวาร์ฟารินในระดับบุคคลและครอบครัว พบความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาวาร์ฟารินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลการใช้ยาให้ถูกต้องตามแพทย์สั่ง โดยข้อมูลจากการศึกษานี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ยาวาร์ฟาริน
นอกจากนั้นผลการศึกษานี้ยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิถีชุมชน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในระดับชุมชน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความเข้าใจในบริบทที่เกี่ยวข้องด้วย
- 259 views