กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์รับส่งกลับโรงพยาบาลราชวิถี/ โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด รับผิดชอบย้ายผู้ป่วยสิทธิข้าราชการจากโรงพยาบาลเอกชนหลังครบ 72 ชั่วโมง พร้อมกำหนดแนวทางรับย้าย ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยใน กทม.มีโรงพยาบาลเข้าร่วมรับย้าย 28 แห่งใน กทม.และปริมณฑล

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการใน 2 เรื่องคือ การออกอนุบัญญัติ 3 ฉบับ และการรับย้ายผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินหลัง 72 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน กรณีสิทธิราชการอื่นๆ ที่ไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด ในภูมิภาคมอบให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด ตั้งศูนย์รับส่งกลับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ส่วนใน กทม.ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีรับผิดชอบย้ายผู้ป่วยสิทธิข้าราชการกลับโรงพยาบาลของรัฐ มี นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา และคณะเป็นผู้รับผิดชอบ เบอร์โทร.02 2062910-12

ทั้งนี้ใน กทม.มีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1.ศูนย์รับส่งกลับ โรงพยาบาลราชวิถีกำหนดคิวการรับผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลรับย้าย เมื่อ ได้รับแจ้งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

2.แจ้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลที่รับส่งกลับประสานข้อมูลเบื้องต้น

3.โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลที่รับส่งกลับประสานรายละเอียดผู้ป่วยและการส่งกลับ

4.โรงพยาบาลรับส่งกลับรายงานผลการดำเนินการมายังเปิดศูนย์รับส่งกลับโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

โดยโรงพยาบาลเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลรับย้าย 28 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดโรงพยาบาลเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ใน กทม.ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ทุกสาขา มี 15 แห่งทุกสังกัด ได้แก่ รพ.ราชวิถี, รพ.เลิดสิน, รพ.นพรัตนราชธานี, รพ.ตากสิน, รพ.กลาง, รพ.เจริญกรุงประชารักษ์, รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี วชิรพยาบาล, รพ.พระมงกุฎฯ, รพ.ภูมิพลฯ, รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า, รพ.ทหารผ่านศึก และ รพ.ตำรวจ

กลุ่มที่ 2 คือโรงพยาบาลใน กทม.ที่รับผู้ป่วยเฉพาะด้านในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สงฆ์, รพ.เมตตาประชารักษ์, สถาบันเด็กฯ, สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สถาบันโรคทรวงอก

กลุ่มที่ 3 โรงพยาบาลทั่วไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตปริมณฑล 7 แห่ง ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า, รพ.นครปฐม, รพ.สมุทรปราการ, รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า, รพ.สมุทรสาคร, รพ.ปทุมธานี และสถาบันบำราศนราดูร

สำหรับแนวทางการรับย้ายมีดังนี้ 

1.โรงพยาบาลในกลุ่มที่ 1 จะหมุนเวียนรับย้ายผู้ป่วยทีละรายจนครบรอบแล้วจึงขึ้นรอบใหม่ 

2.หากโรงพยาบาลตามคิวไม่สามารถรับย้ายผู้ป่วยได้จนใกล้ครบ 72 ชั่วโมง หากเป็นผู้ป่วยเฉพาะทางให้ย้ายไปโรงพยาบาลกลุ่มที่ 2 กรณีไม่ใช่ผู้ป่วยเฉพาะทางให้ย้ายไปโรงพยาบาลในกลุ่มที่ 3 โดยให้ไปโรงพยาบาลรัฐในปริมณฑลที่ใกล้ที่สุด

โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมทุกแห่งจะจัดให้มีผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการและจะบริหารจัดการให้พร้อมรับย้ายผู้ป่วยโดยเร็วหลังจากได้รับการประสาน

“ในส่วนข้าราชการสังกัด กลาโหม ตำรวจ มหาวิทยาลัย กทม. และกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลต้นสังกัดรับผิดชอบในการรับย้ายก่อน สำหรับการรับย้ายผู้ป่วยในสิทธิข้าราชการในส่วนภูมิภาค จากโรงพยาบาลเอกชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลรับย้าย ซึ่งไม่น่าจะมีความยุ่งยากซับซ้อนเหมือนในเขต กทม.” นพ.โสภณ กล่าว