อธิบดีกรมอนามัยชี้ทิศทางงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นักสาธารณสุขต้องปรับตัวจาก Provider เป็นFacilitators ขณะที่ ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพแนะกระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องเป็นพระเอกงาน PP แต่ต้อง Advocate กระทรวงอื่นให้ร่วมขับเคลื่อนงาน
การประชุม PP Excellence Forum 2017 วันที่ 29 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ : ทบทวนอดีต ปัจจุบัน ในและต่างประเทศ สู่การกำหนดทิศทางใหม่” โดยมี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย, นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นพ.วชิระ กล่าวว่า บริบทสังคมไทยในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันมาก รูปแบบวิถีชีวิต การกิน การอยู่ การพักผ่อนไม่เหมือนเดิม ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพก็เข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในอดีตอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต และต้องแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน มองงาน PP เป็นการพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา โดยบทบาทของนักสาธารณสุขคือการเป็นผู้นำในการพัฒนานั่นเอง
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า แนวทางการขับเคลื่อน PP ในอนาคต ต้องปรับจาก Provider เป็น Facilitators โดยสามารถแบ่งเป็น 5 step จากเดิมที่เป็นการทำงานแบบ Work for people อยู่ในโรงพยาบาล อัดแน่นไปด้วยความรู้ในวิชาชีพ รอประชาชนมาหาที่โรงพยาบาล ค่อยๆ ขยับมาเป็น Work to people เริ่มออกไปหาประชาชน แต่ยังมาพร้อมกับวิชาการที่เข้มข้น ยังมีเส้นแบ่งระหว่างวิชาชีพกับผู้ป่วย
ต่อมาคือการทำงานแบบ Work with people เชื่อในพลังของประชาชน ไม่ยัดเยียดวิชาการ เน้นสอบถามว่าประชาชนมีปัญหาอะไร ต้องการการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างไร โดยที่นักสาธารณสุขคอยช่วยเหลือ ถัดมาคือ Work by people เชื่อมั่นในความสามารถของประชาชน กล้าที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจแก้ไขปัญหาสาธารณสุขโดยประชาชน (self-Management) และสุดท้ายคือ Work from people ประชาชนสามารถขับเคลื่อนงานด้าน PP ได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีปัญหาจึงค่อยมาหานักสาธารณสุข
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า สำหรับ Future Scenario งานส่งเสริมสุขภาพในอนาคตนั้น ในภาพใหญ่คือไทยแลนด์ 4.0หรือ Value Based Economy Innovation เล็กลงมาคือสาธารณสุข 4.0 หรือเป็น Value Based Healthcare และภาพเล็กในส่วนกรมอนามัยคือการขับเคลื่อนงาน PP ด้วยนวัตกรรม
“นวัตกรรมที่เราต้องการนี้ ต้องเป็น Disruptive Innovation และต้อง Less is more หรือทำน้อยได้มาก แล้วเราจะสร้าง Innovation ได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากการปรับกระบวนการคิดใหม่ (Mind Set) ปรับทักษะใหม่ (Skill Set) ปรับเรื่องพฤติกรรมสุขภาพใหม่ (Health Behavior Set) และสุดท้ายคือเปลี่ยน Eco-system Protection Set และผมอยากจะทิ้งท้ายว่าในการพัฒนา เราต้องมีทั้งซ่อม เสริม และสร้าง ซ่อมคือซ่อมในเรื่อง Life Course Approach ดูแลสุขภาพทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่องและเสมอภาคกัน เสริม คือการนำกลยุทธ์ PIRAB เข้ามาเสริมการทำงาน และสร้าง คือการสร้าง Health Literacy ความรอบรู้แตกฉานด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาประชาชนไปสู่ Smart Citizen ที่รอบรู้และเท่าทันสื่อในด้านสุขภาพ และต่อยอดเป็นสังคมที่มีความรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Community)” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า งาน PP จะสำเร็จไม่ได้เลยหากมองเฉพาะแค่ PP อย่างเดียว เพราะมีปัจจัยเรื่องบุคลากรที่ต้องเก่งและมีความสามารถด้วย ไม่ใช่ความสามารถในการดำเนินการเอง แต่สามารถผลักดันให้คนอื่นทำ
“พระเอกของการส่งเสริมสุขภาพไม่จำเป็นต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นกระทรวงอื่น เราต้องทำให้เขามีความสนใจในเรื่อง PP เรา Advocate แล้วเขาเป็นคนทำงาน เปรียบกระทรวงสาธารณสุขเป็นเหมือนม็อบถูกพื้น ส่วนกระทรวงอื่นเหมือนก๊อกน้ำ เราจะปิดก๊อกน้ำหรือถูพื้นไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเรื่องการลดอุบัติเหตุทางถนน กระทรวงสาธารณสุขเตรียมรถฉุกเฉินไว้อย่างดี เวลาชนมาก็ช่วยเหลือไม่ให้เสียชีวิต แต่การจะป้องกันไม่ให้รถชนต้องกระทรวงอื่นดำเนินการ” นพ.วิวัฒน์ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า การจะขับเคลื่อนงาน PP ไปสู่ความความเป็นเลิศได้จริงนั้น จำเป็นต้องมี Strategic Direction หรือทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 15 ข้อตามที่ระบุในร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย
1.ยึดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน)
2.มุ่งสู่การพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0
3.มุ่งบูรณาการงานตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
4.ยึดหลักการและแนวทางที่กำหนดใน “กฎบัตรออตตาวา” ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ (Ottawa Charter) รวมทั้งกฎบัตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎบัตรกรุงเทพ (Bangkok Charter) ตามแนวทาง PIRAB
5.มุ่งสู่การสร้างความฉลาดรู้ด้านสุขภาพของคนในชาติ (Health Literacy)
6.ส่งเสริมการนำสุขภาพเข้าเป็นองค์ประกอบในทุกนโยบาย (Health in all policies)
7.มุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม
8.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการรับรู้ข้อมูลและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
9.เสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และชุมชน (Empowerment and participation) และส่งเสริมบทบาทขององค์กรหลักภาคการศึกษา สังคม สวัสดิการ และเศรษฐกิจในการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค
10.สร้างความตระหนักในพันธะรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ (Social Accountability) ที่จะป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน และแสดงบทบาทปกป้องชุมชนต่อภัยสุขภาพ
11.พัฒนาคุณภาพบริการทุกด้านอย่างต่อเนื่อง
12.สร้างความครอบคลุมทั้งด้านบริการและครอบคลุมประชาชนทุกระดับรวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการที่จำเป็น
13.ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based practice) ในการขับเคลื่อนงาน
14.มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสาธารณะประเภทต่างๆ ในการสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน
และ 15.นำการตลาดเชิงสังคม (Social Marketing) มาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
“ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ดีแค่ไหนก็จะจะไม่เป็นผลเลยถ้าเป็นแค่คำพูด แต่ถึงแม้ยุทธศาสตร์ที่แย่มากอาจจะยังดีกว่าถ้าได้ขับเคลื่อนจริง ดังนั้นเราต้องให้ขับเคลื่อนให้ได้จริง ประชาชนถึงจะได้ประโยชน์” นพ.วิวัฒน์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าวถึงความสำคัญของ Health Literacy ว่า Health Literacy เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงาน PP เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทำงานสุขศึกษา ซึ่งในศาสตร์นี้จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวกับคนและส่วนที่เกี่ยวกับสังคม โดยการจะทำให้คนเข้าใจในเรื่องสุขภาพ ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการเอื้อแก่การตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยทำแบบไร้ทิศทาง ขาดที่พึ่งทางวิชาการ โดยนึกเอาว่าถ้าทำแบบนี้แล้วคนไทยจะเข้าใจ
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อมาเริ่มมีการนำแนวทาง PIRAB มาใช้ ซึ่งการใช้ยุทธศาสตร์ PIRAB ก็ช่วยให้ทำงานได้ครอบคลุมมากขึ้น แต่การทำเรื่อง Health for all อย่างเดียวไม่พอ ขณะนี้มาถึงขั้น Health in all policies คือต้องดูระดับของความรอบรู้ด้านสุขภาพของทั้งประชาชนและสังคมด้วย
รศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพนั้น ต้องประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 กลยุทธ์ 1.การสื่อสาร ซึ่งในส่วนนี้ยังมีปัญหาและจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการสื่อสารจากตำราลงมาสู่ประชาชนเลย 2.การพัฒนาทักษะ และ 3.การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกติกาในสังคม ตัวอย่างเช่นเรื่องบุหรี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและส่งเสริมสุขภาพ
“ในการพัฒนา PP ไปสู่ Health Literacy เรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งเลยคือการสื่อสาร เราจะเอาอะไรไปสื่อสารกับประชาชน กรมอนามัยหรือกรมควบคุมโรคต้องช่วยกันสกัดออกมาเป็นคำหรือประโยคที่คนเอาไปใช้ได้ง่าย แล้วเอาไปสื่อสารให้สอดคล้องกับบริบท ที่สำคัญคือสิ่งที่เราเรียนมาที่เป็นความรู้วิชาการ ไม่ควรเอามาคายให้ประชาชนทั้งหมด ควรคายแบบง่ายๆ ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น สกัด Explicit Knowledge ออกมา แล้วทำ Tailor made education ให้สอดคล้องกับในระดับพื้นที่ และสุดท้ายคิดว่าเราควรต้องปรับการทำงานใหม่ให้เป็น Evidence based รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมการสื่อสารใหม่ๆ ขึ้นมา และหากใช้งานได้ผลดีก็นำมากระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย” รศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าว
ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคมี 2 ประเด็น คือ1.การบริหารจัดการองค์คามรู้ ที่ผ่านมาเราคิดว่าเมื่อมีความรู้แล้วจะนำไปสู่การสร้างนโยบายได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางปฏิบัติเรายังขาดเรื่องการบริหารจัดการความรู้ ซึ่งในเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาและเป็นเรื่องที่กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญมาก
2.การจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่น โรคอุบัติใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่นการระบาดของโรคเมอร์สในเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะมีผู้ป่วย 187 รายและเสียชีวิต 37 ราย แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และกระบวนการทางสังคมต่างๆ หยุดชะงักหมด
“ดังนั้นกรอบวิธีคิดในการดำเนินการสู่การป้องกันควบคุมโรคที่เป็นเลิศ เราจึงวางกรอบการพัฒนาใน 3-4 ประเด็น คือ การพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ เรื่องหนึ่งก็คือการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่นโยบาย สู่การปฏิบัติและเกิดบริการด้านการป้องกันควบคุมโรคขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาบุคลากร การให้ความสำคัญกับอุปกรณ์และระบบงานต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการป้องกันควบคุมโรคระดับมาตรฐานสากลภายใน 20 ปีข้างหน้า” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ใน 5 ปีนี้ กรมควบคุมโรคจะเน้นในเรื่องการปฏิรูประบบ ทั้งระบบการเฝ้าระวังที่ต้องเก็บข้อมูลและประมวลผลได้เร็ว การจัดตั้ง Situation Awareness Team การเพิ่มกำลังคนด้านระบาดวิทยา การพัฒนาตามมาตรฐาน KPI ขององค์การอนามัยโลก การเพิ่มจำนวน Bio-Containment Unit ให้ครอบคลุม และการปรับระบบงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
- 117 views