สปสช.ชี้สิทธิหลักประกันสุขภาพครบคลุมการรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย พร้อมสนับสนุนโรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพในการดูแลให้เลือดและยาขับเหล็กแก่ผู้ป่วยได้ตามมาตรฐาน
วันที่ 24 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเจริญธานี จ. ขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ปี 2560 โดยมีผู้ร่วมประชุมจำนวน 120 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นางสาววนิดา วิระกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงให้กับบุคลากรทางการแทพย์ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้านที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพราะสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง ครอบคลุมถึงการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลใจ
นางสาววนิดา กล่าวว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (thalassemia) เป็นโรคพันธุกรรมทางโลหิตวิทยา พบมากในประเทศไทย ประมาณร้อยละ 20 - 30 ของประชากร และพบมากในคนอีสานถึงร้อยละ 30-40 ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมีอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่การมีโลหิตจางเพียงเล็กน้อยจนถึงการมีโลหิตจางมาก และมีโลหิตจางเรื้อรังจนถึงการมีความผิดปกติของร่างกาย จึงเป็นความเจ็บป่วยที่มีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และเป็นปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีลูกหลานป่วยเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะจะต้องให้การดูแลรักษาโรคที่เรื้อรังและรักษาไม่หายขาด นับว่าเป็นภาระทางการแพทย์ สังคมและ เศรษฐกิจของประเทศ
ในพื้นที่ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ลงทะเบียนเพื่อรับการรักษากับโรงพยาบาลแล้ว จำนวน 750 คน ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมากที่สุด คือ จังหวัดขอนแก่นจำนวน 297 คน รองลงมาคือ จังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 173 คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ 105 คน มหาสารคาม 89 คน ตามลำดับ และจากการสำรวจข้อมูลโดยศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ขอนแก่น ในพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น พบว่ามีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจำนวน 1,149 คน โดยมีคนไข้มากที่สุดคือจังหวัดมหาสารคามจำนวน 319 คน รองลงมาคือจังหวัดกาฬสินธุ์จำนวน 285 คน
นางสาววนิดา กล่าวว่า การให้บริการของหน่วยบริการในพื้นที่ พบว่า โรงพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้ แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังต้องเดินทางเข้าไปรับบริการการให้เลือดและยาขับเหล็กที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ทำให้เกิดความแออัดและผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอื่นๆ ในเขต 7 ขอนแก่น มีหน่วยบริการประจำอำเภอที่เปิดให้บริการให้เลือดและขาขับเหล็กแก่ผู้ป่วยดังกล่าวจำนวน 31 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่ง ทั้งนี้มีหน่วยบริการหลายแห่งที่มีศักยภาพในการดูแลให้เลือดและยาขับเหล็กแก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งต้องการการพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายการให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน.
- 2064 views