เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานผลการศึกษาโดยคณะนักวิจัยเดนมาร์กซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal ระบุว่ายาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์เป็นสาเหตุให้ความหัวใจหยุดเต้นสูงขึ้นร้อยละ 31 โดยเฉพาะยาไดโคลฟิเนค (diclofenac) ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 50
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องอื้ออึงให้ควบคุมการจำหน่ายยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) จากความวิตกกังวลว่าอาจเป็นสาเหตุให้ความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นสูงขึ้น ข้อมูลโดยคณะนักวิจัยเดนมาร์กก็ย้ำต่อว่า ยาบรรเทาปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) ก่อความเสี่ยงต่อหัวใจหยุดเต้นสูงกว่ายาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ทั่วไป โดย ศ.กุนนาร์ กิสลาสัน จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้ศึกษาวิจัยยังเรียกร้องให้เข้มงวดการจำหน่ายยา ibuprofen และ NSAIDs อื่น
“การเปิดกว้างให้ซื้อยาโดยปราศจากใบสั่งยา ทั้งไร้ซึ่งคำแนะนำและการควบคุมนั้นทำให้ประชาชนคิดว่า NSAIDs เป็นยาที่ปลอดภัย แต่จากผลการศึกษาเห็นได้ชัดว่า NSAIDs ไม่ใช่ยาที่ปลอดภัย โดยเฉพาะ diclofenac และ ibuprofen ซึ่งพบว่าทำให้ความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวนับเป็นหลักฐานชิ้นล่าสุดที่เตือนการใช้ยา NSAIDs การศึกษาหนึ่งซึ่งรายงานในวารสาร British Medical Journal เมื่อปลายปีก่อนยังชี้ด้วยว่า NSAIDs สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อหัวใจล้มเหลว ขณะที่อีกหลายการศึกษาก่อนหน้าโยงไปถึงปัญหาหัวใจเต้นผิดปกติ (อาจเป็นสาเหตุของหัวใจล้มเหลว) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองหากใช้เป็นประจำ
ศ.กิสลาสันเรียกร้องให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหลีกเลี่ยงยา ibuprofen และยาในกลุ่ม NSAIDs โดยย้ำว่า NSAIDs จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและต้องมีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน และควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
“ยาพวกนี้ไม่สมควรวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือปั๊มน้ำมันโดยที่ปราศจากผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำวิธีการใช้ยาหรอกครับ”
ศ.กิสลาสันเสนอว่า ผู้ป่วยควรใช้ยา NSAIDs เฉพาะในกรณีที่ได้ปรึกษาแพทย์แล้ว และควรกำหนดให้จำหน่ายได้เฉพาะในร้านขายยา รวมถึงจำกัดจำนวนยาและขนาดยาในระดับต่ำ เพราะปัจจุบันประชาชนมีทัศนคติต่อยา NSAIDs ที่คลาดเคลื่อน และการที่ซื้อหายาได้ง่ายอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า “ยาต้องปลอดภัยอย่างแน่นอน”
“ผลการศึกษาของเรายืนยันว่า NSAIDs มีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงจำเป็นต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง และหลังจากที่ได้ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์แล้วเท่านั้น”
ผลการศึกษาโดยคณะนักวิจัยเดนมาร์กศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยร่วม 29,000 รายซึ่งเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลระหว่างปี 2544-2553 ผลการศึกษาชี้ว่า ยา NSAID ทุกตัวล้วนทำให้ความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของยาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากยากลุ่มนี้ส่งผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดและการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดตีบ น้ำคั่ง และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศ.กิสลาสันมองว่า ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยา ibuprofen เกินกว่าวันละ 1,200 มิลลิกรัม
อีกด้านหนึ่งสมาคมตัวแทนผู้ผลิตยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ออกมาโจมตีการศึกษาวิจัยว่า “เต็มไปด้วยข้อจำกัด” และยืนยันว่า NSAIDs มีความปลอดภัย โดยผู้บริหารแจกแจงว่า ข้อมูลขนาดยาในแต่ละวันประเมินจากค่าประมาณแทนที่จะใช้ข้อมูลที่แน่ชัด และไม่ได้ปรับตามการใช้ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ เพราะยา NSAIDs ที่สั่งจ่ายมักมีขนาดยาที่สูงกว่ายาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ และมักใช้ในระยะที่นานกว่า
และว่า NSAIDs ที่จำหน่ายหน้าเคาเตอร์ รวมถึง ibuprofen นั้นเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับการบรรเทาปวดระยะสั้น หากปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาและเอกสารข้อมูลยาสำหรับผู้ป่วย กระทั่ง NHS Choices ยังแนะนำยา NSAIDs สำหรับบรรเทาปวด ลดอักเสบ และลดไข้
พร้อมกันนี้ระบุว่า ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจหรือโรคเรื้อรังจะต้องแจ้งต่อเภสัชกรก่อนซื้อยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์เพื่อตรวจสอบว่าอาจมีอันตรกิริยาหรือปัญหาสุขภาพใดๆ
ขอบคุณที่มา : Calls for ibuprofen sale restrictions after study finds cardiac arrest risk
- 1773 views