กรมควบคุมโรค เตือนช่วงหน้าร้อนนี้ ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ พร้อมคาดการณ์ช่วงหน้าร้อนปีนี้จะมีผู้ป่วยโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก ประมาณ 150 ถึง 400 คนต่อเดือน และจะพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค.
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี สิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูงจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ในนักกีฬา หรือในทหารที่ต้องฝึกหนักกลางแจ้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้
สถานการณ์ของโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก พบว่า ตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี สถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร เป็นต้น ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงานนั่นเอง
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรค เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก โดยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยรายเดือนในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2560 พบว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยจะพบผู้ป่วยประมาณ 150 ถึง 400 รายต่อเดือน โดยสูงสุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า คำแนะนำสำหรับประชาชน คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้านที่เป็นห้องกระจกปิดไว้เพียงลำพัง และไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดด
หากมีอาการตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ อาจวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ 6 กลุ่มที่ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่
1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร เป็นต้น
2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
4.คนอ้วน
5.ผู้ที่อดนอน
และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ทำการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้
1.นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
2.เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
3.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
4.ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
และ 5.รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 36 views