สสส.-สคอ.และเครือข่าย ออกโรงเตือนอันตรายข้างทาง “อย่าประมาท..วิสัยทัศน์อุโมงค์” ชี้ชัดยิ่งขับเร็ว ยิ่งมองไม่เห็นด้านข้าง ส่งผลอุบัติเหตุบนถนนทางหลวงสูงถึงร้อยละ 76 เสียชีวิตร้อยละ 34 เดินหน้าเร่งสร้างความตระหนักผ่านสื่อรณรงค์ แนะขับขี่ด้วยความเร็วที่ปลอดภัย 50 กม./ชม.เขตเมือง และ 90 กม./ชม.นอกเมือง ช่วยลดเสี่ยงลดตายจากอุบัติเหตุทางถนนได้เกินครึ่ง
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 60 ณ จ.นนทบุรี - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าว “ลดเร็ว ลดเสี่ยง วิสัยทัศน์อุโมงค์ ฆ่าคุณได้ง่าย” เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจทฤษฎีวิสัยทัศน์อุโมงค์ สร้างความตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ความเร็ว อันตรายจากสิ่งรอบข้างที่มองไม่เห็นเมื่อขับเร็วผ่านสื่อรณรงค์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 24,237 คน เฉลี่ย 2.6 คนต่อชั่วโมง คิดเป็น 66 คนต่อวัน สาเหตุหลักจาก “ความเร็ว” ทำให้ไทยมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนใหญ่มาจากการขับขี่ด้วยความเร็วที่ไม่ปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยความเร็วที่ปลอดภัยคือเขตเมืองและชุมชน 50 กม./ชม. นอกเมือง 90 กม./ชม. จะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้ความเร็วได้มากกว่าครึ่ง
ทั้งนี้จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี 2558 ของมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า ร้อยละ 76 อุบัติเหตุบนทางหลวงเกิดจากการใช้ความเร็ว ส่วนใหญ่ไม่มีคู่กรณี แต่มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 34 ที่เกิดจากการใช้ความเร็วประกอบกับลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่เหมาะสมกับการขับขี่ร่วมด้วย
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า สสส.ทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังมากว่า 10 ปี ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้ความเร็วที่เป็นปัจจัยหลักการเกิดอุบัติเหตุ การรณรงค์ในปี 2560 นี้ ได้เร่งสร้างความเข้าใจและตระหนักในประเด็นลดเร็ว ลดเสี่ยง ขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน โดยได้ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาชุด “วิสัยทัศน์อุโมงค์...ลดเร็ว ลดเสี่ยง” สร้างความเข้าใจกับคนไทยเรื่องการขับขี่โดยใช้ความเร็วทำให้เหมือนการขับรถเข้าอุโมงค์ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองเห็นไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ได้เผยแพร่ผ่าน Facebook, You tube, Clip TVC ตลอดจนชุดข้อมูล, Infographic และติดตั้ง LED Billboard กระจายทั่ว กทม.ถึง 54 จุด ทั้งนี้ สสส.มองว่าหากคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวมากขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยง ลดการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วลงได้อย่างชัดเจน
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า วิสัยทัศน์อุโมงค์ คือ สภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อขับรถเร็ว การมองเห็นด้านข้างจะแคบลงและโฟกัสแค่จุดตรงกลาง ซึ่งปกติสายตาจะมีองศาการมองเห็น 180 องศา มีมุมมองรับรู้ตื่นตัวที่ 20-30 องศาและมีเพียง 2-4 องศา ที่มองเห็นชัดเจน ที่เรียกว่า “Focal point” เช่น ถ้าขับรถที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง องศาการมองเห็นจะลดลงเหลือแค่ 50 องศา และหากมีวัตถุหรืออะไรมาตัดหน้า จะมีเวลาเพียง 2 วินาที ในการตัดสินใจแตะเบรก ซึ่งก็ใช้ระยะทาง 25 เมตร กว่ารถจะหยุดสนิทจะต้องใช้ระยะเบรกอีก 58 เมตร รวมระยะเบรกที่ต้องใช้ทั้งหมด 83 เมตร ดังนั้นการตอบสนองที่ช้าลงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและส่งผลให้มีความรุนแรงสูงมากขึ้น และหากมีสิ่งอันตรายข้าง เช่น เด็ก หรือ สุนัขวิ่งข้างทาง ข้ามถนนอย่างกะทันหันหรือรถที่กำลังจะออกจากซอย หรือขับรถผ่านแหล่งชุมชน โรงเรียน ตลาด ฯลฯ ล้วนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในทฤษฎีนี้ จึงต้องสร้างความเข้าใจ เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจหยุดรถและควบคุมรถ
พ.ต.ท.สมุโรจน์ โรจน์วงศ์สุวรรณ สารวัตรฝ่ายอำนวยการกองบังคับการตำรวจทางหลวง (งานยุทธศาสตร์) กล่าวว่า มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จะมีทั้งประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ทางกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายและร่วมแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ก็เพื่อทำให้สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงมากที่สุด หรือหากเพิ่มขึ้นก็อยู่ในอัตราไม่จะสูงเกินไปจนน่าเป็นห่วง ทั้งในและนอกเทศกาล ซึ่งกองบังคับการตำรวจทางหลวงได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยในสังกัดดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่ก็ยังขาดความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเต็มที่ ยังคงมองว่าตำรวจบังคับใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ อีกทั้งกฎหมายยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกออกใบสั่งแล้วไม่ชำระยังไม่มีบทลงโทษที่รุนแรงที่สามารถทำให้ผู้กระทำยำเกรงได้ จึงส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนไม่ลดลงเท่าที่ควร
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการตรวจจับและตั้งด่านกวดขันวินัยทั้งด้านความเร็วและความผิดจราจรอื่นๆใน 10 ข้อหาหลัก ปี 2560 จับกุมรวม 458,907ราย (ต.ค.59-ก.พ.60) แยกเฉพาะจับกุมขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปี 2559 จับกุมรวม 872,367 ราย และในปี 2560 จับกุมรวม 379,215 ราย (ต.ค.59 - ก.พ.60)
นายกัญจน์ภวิศ ใจกว้าง อายุ 42 ปี ผู้ประสบเหตุจากการขับรถ Big Bike กล่าวว่า เมื่อปี 2558 ได้เดินทางกลับจากบ้านเพื่อน นึกสนุกอยากลองทำความเร็ว จึงถอดหมวกกันน็อกออกเพราะอากาศร้อน และขับด้วยความเร็ว 140 กม./ชม. รู้สึกว่าเหมือนมีอะไรมาวิ่งตัดหน้ารถอย่างกะทันหัน ตอนนั้นเห็นแค่แว๊บเดียวว่าคือสุนัขที่วิ่งไล่กันในป่าข้างทางและตัดหน้ารถ ทำได้เพียงแค่นับ 1 เท่านั้น ไม่มีเวลาแม้แต่จะเหยียบเบรกหรือตัดสินใจหยุดรถ รู้ตัวอีกทีสุนัขเข้าไปอยู่ในวงล้อด้านหน้ารถแล้ว ทำให้ล้อหลังยกและลอยขึ้น และไถลไปตามพื้น กระแทกจนกะโหลกศีรษะร้าว บาดแผลถลอกและสลบไป รู้สึกตัวที่โรงพยาบาลอีกหนึ่งถัดมา แพทย์บอกกะโหลกศีรษะร้าวเย็บไปถึง 40 เข็ม
“ตอนที่ขับเร็ว ยอมรับเลยว่ามองด้านข้างไม่ชัด จะเห็นชัดแต่ด้านหน้า ยิ่งกลางคืน ยิ่งเพิ่มเป็นสองเท่า ถ้าใครขับรถด้วยความเร็วที่ 140 -160 กม./ชม.อย่างผม จะรู้เลยว่าถ้ามีอะไรมาตัดหน้ากระทัน คุณต้องทำใจไว้เลย เพราะไม่มีเวลาแม้แต่จะตัดสินใจเหยียบเบรก ชนอย่างแน่นอน ผมยังโชคดีที่รอดตายมาได้ แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดี และมีโอกาสรอดชีวิตหากขับรถด้วยความเร็วแบบผมในวันนั้น” จากนั้นใช้เวลาพักฟื้นกว่า 1 ปี และตัดสินใจขายรถบิ๊กไบท์คันที่เกิดเหตุและไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์อีกเลยจนปัจจุบัน เพราะยังมีอาการสั่น กลัว ความรู้สึกหวนกลับมาย้ำเตือนตลอดเวลา ไม่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยงหรือหากขับไปชนคนอื่นอีกคัน ก็จะส่งผลกระทบไปอีกหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากอุบัติเหตุทางถนนเช่นเดียวกัน
นางจิตราภา เซี่ยงอึ๋ง อายุ 42 ปี ผู้ประสบเหตุจากขับรถจักรยานยนต์จนทำให้เป็นคนพิการ เล่าว่า ตอนนั้นคิดว่าตนเองขี่รถเก่ง เพราะอาชีพต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปส่งของทุกวัน คุ้นเคยกับรถดี ไม่น่าเป็นอะไร จึงตัดสินใจขี่รถจากกรุงเทพฯไปราชบุรีเพื่อเยี่ยมลูก ตอนขาไปไม่มีอะไรแต่ขากลับ ตนเองซึ่งปกติเป็นคนขี่รถเร็วและใช้ความเร็วสูงมาตลอด เข็มไมล์หน้าปัดมีเท่าไหร่จะใช้จนหมด ระหว่างทางนั้นมีรถบรรทุกสิบแปดล้อ วิ่งอยู่ข้างหน้า จึงคิดแซงจากเลนซ้ายไปเลนขวาด้วยความเร็วเต็มที่เพื่อให้พ้น แต่ด้วยความเร็วบวกกับแรงต้านของลมที่เกิดขึ้น ทำให้รถสะบัดและประคองไม่อยู่ ตนเองกระเด็นจากรถ หล่นกลางถนน รถบรรทุกหยุดไม่ทัน ล้อรถเหยียบขาแหลกละเอียดไป 1 ข้างและต้องถูกตัดขาทิ้ง ทำให้ตนเองกลายเป็นผู้พิการในทันที ซึ่งหากย้อนเวลาได้จะไม่ขับเร็ว ไม่ประมาท เพราะบนถนนมีความเสี่ยงตลอดเวลา การที่เราขับเร็ว เราจะไม่สนใจสิ่งรอบข้าง จะสนใจแต่ข้างหน้าอย่างเดียว ถ้ามีรถมาตัดหน้า หยุดรถไม่ทันชนปะทะแน่นอน สุดท้ายทำให้ชีวิตเปลี่ยน เตือนอย่าเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่คุณมองไม่เห็น จนต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต
- 176 views