สบส.เผย พบแนวโน้มเอกชนขอขึ้นทะเบียนเปิดคลินิกไตเทียมมากขึ้น เหตุคนไทยมีปัญหาโรคไตวายมากขึ้นและเพิ่มอย่างรวดเร็ว พร้อมกำหนดเกณฑ์ควบคุมมาตรฐาน ต้องได้เกณฑ์ครบถ้วน ที่สำคัญจะต้องมีเวลาให้บริการติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และผู้ดำเนินการต้องเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์โรคไต หรือสาขากุมารเวชศาสตร์โรคไต และมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมไตเทียมในสัดส่วน ไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อผู้ป่วย 4 คน
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานพยาบาลภาคเอกชนทั้งโรงพยาบาลและคลินิก มีแนวโน้มมาขอขึ้นทะเบียนเปิดคลินิกไตเทียมมากขึ้นตามสภาพปัญหา เนื่องจากคนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไตวายมากขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลการสำรวจจากหน่วยไตเทียมทั่วประเทศโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 พบว่าสาเหตุโรคไตของไทยเป็นแนวเดียวกันกับทั่วโลก อันดับ 1 เกิดมาจากโรคเบาหวานร้อยละ 37.5 รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 25.6 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนที่จะขอเปิดบริการหน่วยไตเทียม สามารถขอเปิดเวลาใดก็ได้ แต่จะต้องมีเวลาให้บริการติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของการฟอกเลือดผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ต่อคน หากเวลาน้อยกว่านี้ จะไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากรอบการล้างไตต้องไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงเป็นมาตรฐานการฟอกไต และทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือประกาศเรื่องไตเทียม ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานทั้งเรื่องบุคลากร สถานที่ซึ่งต้องเป็นเขตกึ่งปลอดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยประเภทนี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ มีโอกาสติดเชื้อง่าย มีเครื่องมือเพียงพอ มีระบบน้ำกรองที่ได้มาตรฐาน ระบบการควบคุมการติดเชื้อ และระบบริการผู้ป่วยฉุกเฉินครบถ้วน เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยโรคไตให้ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ ปลอดภัยภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
ผู้ได้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพ คือต้องมีแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับวุฒิบัตรจากแพทยสภา ในสาขาอายุรศาสตร์โรคไตในผู้ใหญ่หรือเด็ก หรือเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจากสถาบันที่คณะกรรมการสถานพยาบาลรับรอง จำนวน 1 คน และกำหนดให้จัดพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจากสถาบันที่คณะกรรมการสถานพยาบาลรับรอง จำนวน 1 คน และมีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานอีก 1 คน ต่อผู้ป่วยที่รับบริการฟอกเลือด 4 คน
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องไตเทียมนั้น จะต้องได้มาตรฐาน มีคู่มือประจำเครื่อง มีระบบบำรุงรักษาเครื่อง โดยเฉพาะการดูแลตัวกรองเลือด (Dialyzer Reprocessing) จะต้องมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด มีระบบทำน้ำบริสุทธิ์ที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์เพื่อใช้กู้ชีพในภาวะฉุกเฉินให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม จะต้องมีระบบการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลที่มีบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามที่ได้มีข้อตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง และต้องมีระบบการควบคุมการติดเชื้อตามมาตรฐานการควบคุมการติดเชื้อ โดยให้ทุกแห่งลงทะเบียนบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างที่ได้รับการรักษาทุกรายด้วย
- 2582 views