ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายคนนับร้อยคนกำลังทยอยเดินออกจากห้องประชุม หญิงคนหนึ่งปลีกตัวจากฝูงชนเดินมาทักทายทีมงาน ด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง
เธอผู้นี้คือ “กรรณิการ์ พลวงศ์” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ท่าสะอาด อยู่ในพื้นที่ ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ และเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายของการพูดคุย เพื่อขอให้ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานว่า ทำอย่างไรถึงผ่านเกณฑ์การประเมิน รพ.สต.ติดดาวได้
กรรณิการ์ เดินนำทีมงานไปยังมุมสงบมุมหนึ่ง พลางอธิบายไปด้วยว่าเหตุที่มีคนจำนวนมากเช่นนี้เพราะเป็นวันประชุม อสม.ประจำปีพอดี จากนั้นจึงเริ่มบอกเล่าเรื่องราวการทำงานพัฒนา รพ.สต. จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
สู้กับข้อจำกัดทางการเงิน
ผู้อำนวยการ รพ.สต.ท่าสะอาด เล่าว่า ในช่วงที่เริ่มพัฒนาสู่มาตรฐาน รพ.สต.ติดดาว ปี 2556 ฐานะทางการเงินของ รพ.สต.อยู่ในภาวะวิกฤติระดับ 7 จึงเดินหน้าได้ค่อนข้างลำบาก ทุกอย่างติดขัดไปหมด เช่น เกณฑ์ประเมินติดดาวบอกว่าต้องใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพทั้งหมด จุดนี้ก็ลำบากเพราะเงินทุนของ รพ.สต.ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ต้องรองบลงทุน รองบค่าเสื่อม ซึ่งในส่วนของงบค่าเสื่อมก็ซื้อได้เฉพาะของที่มีอยู่เดิม แต่ในมาตรฐานที่กำหนดมาเป็นเครื่องมือที่ รพ.สต.ไม่เคยมีทั้งสิ้น
“พอเราไม่เคยมีอุปกรณ์เครื่องมือที่กำหนด ก็ไม่สามารถใช้งบค่าเสื่อมมาซื้อได้ แต่ถึงมีเงินเราก็ไม่มีปัญญาซื้อ เพราะเป็นงบเฉพาะ ผันเป็นเงินบำรุงไม่ได้ ก็ทำให้ติดขัดในประเด็นว่าจะเอาเงินอะไรซื้อ แต่ดีที่มีอยู่ปีหนึ่งที่เขาปลดล็อกให้ซื้อได้ เราถึงได้ซื้อในปีนั้น” กรรณิการ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันฐานะทางการเงินของ รพ.สต.ท่าสะอาด ถือว่าดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าได้เงินสนับสนุนมากมาย เพียงแต่การพัฒนาตามเกณฑ์ต่างๆ ก็ทยอยทำตามบริบทที่พอทำไปได้ ไม่ใช่เอาเงินมาทุ่มเรื่องเดียว
กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า หากพูดถึงตัวเกณฑ์ประเมิน พอเห็นครั้งแรกก็เหงื่อตก เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องวิชาการทั้งหมด บุคลากรที่มีก็มาจากหลายวิชาชีพอยู่รวมกัน และต้องปรับจูนวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาก
นอกจากนี้ การดำเนินงานต้องอาศัยการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลแม่ข่ายและ CUP เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบางพื้นที่อาจจะเจอปัญหาได้รับความร่วมมือจากแม่ข่ายค่อนข้างน้อย เพราะโรงพยาบาลก็ยังเอาตัวไม่รอด แถมยังต้องมาสนับสนุน รพ.สต.อีก
อย่างไรก็ดี ในส่วนของ รพ.สต.ท่าสะอาด แม้จะอยู่ใน อ.เซกา แต่ไปขึ้นกับ CUP ของอำเภอข้างเคียงคือ อ.พรเจริญ ซึ่งให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งด้านวิชาการและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ
กรรณิการ์ ยกตัวอย่างงาน IC ที่ผ่านมา รพ.สต.ทำเองทุกอย่าง ทั้งล้างทั้งนึ่งเครื่องมือ แต่พอเริ่มทำเกณฑ์ติดดาว โรงพยาบาลแม่ข่ายก็เข้ามาสนับสนุนเป็นศูนย์กลางบริหารเครื่องมือของทุก รพ.สต. โดยให้เบิกของเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งก็ช่วยทำให้ระบบการจัดการเครื่องมือดีขึ้น
เช่นเดียวกับงานแล็บ เมื่อก่อนตรวจได้ไม่กี่รายการ พอต้องทำเพิ่มขึ้น แม้ภาระงานจะมากแต่ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องยา เดิมทีทางจังหวัดจะส่งยามาให้สต๊อก แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลจะเป็นแม่ข่ายในการจัดซื้อรวม แล้ว รพ.สต.เบิกยา 2 ครั้ง/เดือน และเก็บสต็อกไม่เกิน 1เดือน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เรื่องยา แต่ก่อนชาวบ้านไม่เชื่อถือ รพ.สต. แต่ตอนนี้มีทั้งทีมจากจังหวัด ทีม สสอ. ทีมโรงพยาบาล ร่วมมือกันมาตรวจให้ รพ.สต. ก็ได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ถ้าแจ้งเตือนแล้วไม่ทำตาม ทีมจังหวัดจะลงมาตรวจ ก็ทำให้ได้รับความร่วมมือจากร้านค้า
หรือในเรื่องการตรวจคุณภาพอาหารในตลาดสด เมื่อก่อนไม่ได้รับความร่วมมือจากแม่ค้า จะเก็บตัวอย่างก็ต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อ เลยปรับวิธีการใหม่ โดยทางจังหวัดลงมาเล่นด้วยว่าถ้าตรวจไม่ผ่านจะไม่ให้ขาย ก็ทำให้ระยะหลังได้รับความร่วมมือดีขึ้น
“หรืออย่างเรื่องโครงสร้างอาคาร เกณฑ์ประเมินติดดาวกำหนดให้มีสารพัดห้อง แต่เราไม่ค่อยมีงบประมาณ เลยค่อยๆ แซะเอา ตั้งงบขอปรับปรุงไปทีละห้องๆ บวกกับบางส่วนที่ทาง อสม.ช่วยสร้างให้ ใช้เวลาอยู่ 3 ปีถึงจะได้ครบตามที่กำหนด ตอนนี้ก็ถือว่าพัฒนาขึ้น แต่เรื่องงบนี่สำคัญ ถามว่างบเราเยอะไหม บอกได้เลยว่าไม่ แต่เราพยายามอยู่ให้ได้ ทำเท่าที่เราทำได้ เราทำงานหนักมาก สิ่งที่ทำให้มาถึงจุดนี้คือสู้ สู้จนเฮือกสุดท้ายจริงๆ เวลาท้อก็ช่วยให้กำลังใจกัน” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ท่าสะอาด กล่าว
ต้องทำงานเข้าขากับ รพ.แม่ข่าย/CUP ถึงจะไปรอด
กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ ถือว่าเป็นความโชคดีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เคยเป็น อสม.มาก่อน ทำให้เข้าใจบริบทการทำงานของ รพ.สต. เช่นเดียวกับสมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่ ก็เคยเป็น อสม. ซึ่งช่วยได้อย่างมากเวลาเสนองบประมาณจากกองทุนต่างๆ
“หรืออย่างเรื่องผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ถ้ามีปัญหาปุ๊ป สามารถยกหูคุยกับนายกฯ ได้โดยตรง และท่านดูแลติดต่อให้ภายใน 3 วัน เช่น คนไข้จำเป็นต้องได้อุปกรณ์บางอย่าง ต้องทำทางลาด ทำห้องน้ำ ถ้าประสานหน่วยงานรัฐอื่นๆ ไม่ได้ เขาก็จะจัดซื้อโดยงบของเขา ก็ถือว่าเป็นโชคดีของชาวบ้าน” กรรณิการ์ กล่าว
เช่นเดียวกับชาวบ้านเอง ก็ให้ความร่วมมือกับ รพ.สต.เป็นอย่างดี เช่น เวลา รพ.สต.จะจัดกิจกรรม ก็จะมีคนมาร่วมงานหลักพันคน หรือการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ก็จะดึงกลุ่ม อสม. และ Care Giver ที่สนใจมาช่วยงาน จัดอบรมให้ความรู้ทางวิชาการ จัดอบรม Care Giver, Care Manager ถือว่าเป็นความโชคดีที่ชาวบ้านอยากช่วย เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านไม่ช่วยเลยเพราะว่าได้ค่าตอบแทนน้อย
“ถ้าถามว่าจุดเด่นของเราคืออะไร คิดว่าเป็นการทำงานกับชุมชนที่เราสามารถเข้าไปในทุกแกน ถ้าแกนนำชาวบ้านไม่เอาด้วย เราก็ไปไม่รอด ทำคนเดียวยังไงก็ไปไม่รอด แต่ผู้นำเอาด้วย อสม.เป็นเนื้อเดียวกัน นายกฯ ก็เป็นเนื้อเดียวกัน การขอความช่วยเหลือต่างๆ ก็ได้รับการตอบรับดี บางพื้นที่ขอ 500 ได้ 300 ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ชุมชนเราขอ 500 ก็ได้ 500 ดังนั้น รพ.สต.อื่นๆ ที่ทำเรื่อง รพ.สต.ติดดาว อยากให้ประเมินถึงชุมชน ถึงเราอยู่อย่างแร้นแค้นแต่ชาวบ้านได้และมีความสุขในบริบทของเขา ก็ถือว่าน่าจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่มีความสุขแต่ชาวบ้านยังเดือดร้อนอยู่” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ท่าสะอาด กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำงานกับชุมชน กรรณิการ์เชื่อว่า รพ.สต.ส่วนใหญ่ 99% เข้ากับชุมชนได้ดีอยู่แล้ว แต่ที่จะพบปัญหาคือความสัมพันธ์กับโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือ CUP มากกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่แม่ข่ายกับลูกข่ายยังไม่เข้าขากัน อย่าคาดหวังกับ 5 ดาว
“5 ดาวต้อง match กันตั้งแต่เครื่องมือและความรู้ มันต้อง run ลงมาตั้งแต่โรงพยาบาล ตั้งแต่ cup มาถึงชุมชน การทำงานต้องสอดคล้องกันตลอด พี่เลี้ยงต้องลงมาดูแล ถ้าพี่เลี้ยงไม่มาดูก็จะตอบ KPI ไม่ได้ว่าเอามาตรฐานไหนมาจับ หรืออย่างถ้าเภสัชกรไม่เล่นด้วย ต่อให้ทำดีเลิศแต่มาตรฐานไม่ถูกต้อง มันก็จบอยู่ดี ดังนั้นถ้าแพทย์ไม่เล่นด้วย ผู้บริหารโรงพยาบาลไม่เอาด้วย อย่าเพิ่งทำ” กรรณิการ์ กล่าว
กรรณิการ์ ขยายความว่า คำว่าทำงานเข้ากันได้หรือไม่ได้นั้น ไม่ใช่ต้องสนิทกันเป็นการส่วนตัวถึงจะทำงานกันได้ดี แต่ต้องทำระบบให้สื่อสารงานเข้าใจกัน เช่น รพ.สต.ไปประสานงานแล้วโรงพยาบาลยังแบ่งว่าอันนี้ของเขา อันนี้ของเรา เครื่องมือนี้ของโรงพยาบาล รพ.สต.ห้ามเข้าใกล้ แบบนี้ไปไม่รอด แต่ถ้าบอกว่าใช้ร่วมกัน มีน้อยใช้น้อยแบ่งปันกันไป แบบนี้ถึงจะไปรอด
- 84 views