โรงพยาบาลตำรวจดันโครงการป้องกันและดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนช่วยลดอัตราการตายจากผู้สูงวัยที่กระดูกหัก เตือนกลุ่มอายุเสี่ยงต้องใส่ใจ และรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้รับรางวัล เหรียญทองในระดับนานาชาติ (International osteoporosis foundation) และรางวัลนวัตกรรมการบริการภาครัฐเมื่อปี 2559
พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงปัญหากระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ที่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุว่า โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่มีผู้ป่วยประสบปัญหาจากทั่วโลก และจะไม่มีการแสดงอาการของโรคจนกว่าจะพบว่าผู้ป่วยกระดูกหักจากอุบัติเหตุ ขณะที่หากมีภาวะของโรคกระดูกพรุนด้วยแล้ว จะพบว่ามีโอกาสกระดูกหักซ้ำถึง 80%
โดยสถิติพบว่า หากมีภาวะแทรกซ้อนตามมาหลังจากเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน คือ การเกิดกระดูกหักซ้ำ และอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะภายใน 1 ปีแรกหลังเกิดกระดูกหัก และมีกระดูกบริเวณสะโพกหัก เพราะจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลตำรวจใส่ใจกับปัญหาดังกล่าว และพบว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคดังกล่าวจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และผู้ชายมีความเสี่ยงตั้งแต่อายุ 65ปีขึ้นไป
โรงพยาบาลตำรวจจึงเริ่มโครงการป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยที่มารักษาตัวจากอุบัติเหตุกระดูกหัก และอยู่ในช่วงวัยที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน เพื่อทำการรักษาต่อเนื่องต่อไป และจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้พบว่าอัตราการป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนสำหรับคนไทย ก็มีสถิติที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยทั่วโลกด้วยเช่นกัน
“จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากมารักษาด้วยอาการกระดูกหัก มักพบว่ามีถึง 80% จะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน แม้จะได้รับการรักษากระดูกหักแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นแค่เพียงอุบัติเหตุ จึงไม่ได้วินิจฉัยต่อ แพทย์เองก็เช่นกันที่ไม่ได้ทำการตรวจต่อเนื่องว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ทำให้เกิดความเสี่ยงของการหักซ้ำ หรือกระดูกหักในจุดอื่นเพิ่มเติม จนนำไปสู่การเสียชีวิต”
พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุของโรคกระดูกพรุนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.ระดับปฐมภูมิ สาเหตุเกิดในช่วงผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้ว หรือช่วงวัยทอง ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีความสัมพันธ์ของโรคกระดูกพรุนตามมา และ 2.ระดับทุติยภูมิ สาเหตุมาจากการใช้ยาต่างๆ ที่มีผลให้เกิดโรค ทั้งสเตียรอยด์ที่มากเกิน หรือใช้ยาบางชนิดตามแพทย์สั่งก็มีผลต่อกระดูกเช่นกัน
“โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต แต่หากวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และผู้ป่วยเองดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะช่วยในการรักษาโรคไปได้ตลอด” พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ กล่าว
พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลตำรวจจึงทำโครงการป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยขอความร่วมมือจากบุคลากรในโรงพยาบาล และประสานการทำงานร่วมกัน คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการและทีมเยี่ยมบ้าน เป้าหมายเพื่อเป็นการพัฒนา และเสริมสร้างแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักจากภาวะโรคกระดูกพรุนอย่างครบวงจร และได้มาตรฐาน
“ภายในทีมงานของโครงการจะครอบคลุมดูแลผู้ป่วยด้านนี้ ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง รวมถึงญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยด้วย และจะมีทีมเยี่ยมบ้านออกไปพบปะตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อดูองค์ประกอบแวดล้อมที่อยู่อาศัย และแนะนำปรับปรุงเพื่อให้ป้องกันอุบัตเหตุที่จะนำไปสู่การหักของกระดูกทั้งการป้องกันการหกล้ม จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมภายในที่พักอาศัย”
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2557 พบว่าปัจจุบันมีทิศทางที่ผู้ป่วยใส่ใจปัญหาด้านสุขภาพดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยลดอัตราการเสียชีวิตจากผู้ป่วยที่กระดูกหักซ้ำ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นสมดุลของร่างกายลงได้เหลือเพียง 5% จากเดิมที่ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปีสูงถึง 25% และสามารถลดการหักซ้ำได้เหลือเพียงแค่ 1% และที่สำคัญผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคสูงถึง 80% ทำให้ทราบว่ามีอาการป่วยจากโรคกระดูกพรุน และสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันที ทั้งการใช้ยาในขั้นที่จำเป็น รวมถึงการกายภาพบำบัดและด้านโภชนาการที่เหมาะสมด้วย
“สำหรับสิทธิ์ในการรักษาโรคกระดูกรพรุน ผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท สามารถเจาะเลือด และตรวจวินิจฉัยหาโรคกระดูกพรุนได้ตามสิทธิ์ รวมถึงได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลตนเอง เข้าสู่ระบบการติดตามผล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนในขั้นทีต้องใช้ยาเพื่อการรักษา ก็จะเป็นขั้นตอนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายตามมา เพราะปัจจุบันยารักษาโรคดังกล่าวค่อนข้างมีราคาที่แพง” พ.ต.ต.นพ.ธนวัฒน์ กล่าว
อนึ่ง โครงการป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนดำเนินการจนเป็นที่ยอมรับ โดยได้รับรางวัล เหรียญทองในระดับนานาชาติ (International osteoporosis foundation) และรางวัลนวัตกรรมการบริการภาครัฐเมื่อปี 2559
- 552 views