“ผู้รับเหมา” จ.ภูเก็ต โอดนโยบายรัฐบาลขัดขวางนำเข้า “แรงงานทักษะ” ระบุ ค่าใช้จ่ายแพง-ไม่การันตีคุณภาพ ชี้สถานการณ์ปัจจุบันขาดแคลนหนัก หวั่นอีก 5 ปี พม่ากลับประเทศ-ไทยวิกฤต
นายวิระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้รับเหมาก่อสร้าง จ.ภูเก็ต เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ว่า จ.ภูเก็ต กำลังพัฒนาไปสู่เมืองเศรษฐกิจเต็มรูปแบบจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยปัจจุบัน จ.ภูเก็ต ต้องใช้แรงงานข้ามชาติเป็นหลัก เนื่องจากแรงงานไทยมีไม่เพียงพอ
"ขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างใน จ.ภูเก็ต กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะจำนวนมาก เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานส่วนหนึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเข้มข้น แต่ไม่มีทักษะที่สอดรับกับความต้องการของนายจ้าง"นายวิระชัย กล่าว
นายวิระชัย กล่าวว่า ผู้รับเหมาะได้หารือกันถึงสถานการณ์แรงงาน โดยเห็นตรงกันว่าภายในระยะเวลาอีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะชาวพม่าจะขาดแคลน เนื่องจากขณะนี้ประเทศพม่ากำลังเข้าสู่การพัฒนา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณงานในประเทศมีมากขึ้น และเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนก็คือแรงงานชาวพม่าจะไหลกลับไปทำงานที่ประเทศของตัวเอง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่นายจ้างกังวลที่สุด และไม่มั่นใจว่ารัฐบาลทราบปัญหาเหล่านี้หรือไม่
"ไม่รู้ว่ารัฐบาลทราบหรือไม่ว่าเรากำลังขาดแคลนแรงงานทักษะอย่างหนัก และจากนโยบายของรัฐบาลเองก็กำลังกลายเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในอนาคต"นายวิระชัย กล่าว
นายวิระชัย กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี (เอ็มโอยู) ได้กำหนดให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาระทั้งในส่วนของแรงงานและนายจ้างที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ที่สำคัญก็คือแรงงานที่เข้ามาด้วยวิธีการเอ็มโอยูจะเข้ามาในเชิงปริมาณ แต่นายจ้างจะไม่มีทางรู้ได้ว่าแรงงานเหล่านั้นมีทักษะเหมาะสมกับงาน หรือทำงานได้จริงหรือไม่
"ทุกวันนี้ค่าแรงใน จ.ภูเก็ต อยู่ที่วันละ 350-500 บาท ซึ่งค่อนข้างสูง และเป็นต้นทุนของนายจ้าง ปัญหาก็คือแรงงานที่เอ็มโอยูเข้ามานั้นส่วนหนึ่งไม่มีทักษะ ทำงานไม่ได้ เป็นเหตุให้นายจ้างต้องส่งตัวกลับ ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับนำเข้าแรงงานก็ค่อนข้างสูงถึงหัวละ 1.5 หมื่นบาท (ค่าทำพาสปอร์ต ใบอนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพฯลฯ) นั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น"นายวิระชัย กล่าว
ประธานชมรมผู้รับเหมาก่อสร้าง จ.ภูเก็ต กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขก็คือนิยามในกฎหมายกำหนดประเภทแรงงานที่ระบุว่ากรรมกรคือผู้ใช้แรงงานเข้มข้นเท่านั้น เมื่อนายจ้างนำเข้าได้เฉพาะกรรมกรจึงไม่สามารถรับแรงงานทักษะได้ ข้อเสนอก็คือควรปรับแก้ขยายนิยามคำว่ากรรมการ เพื่อเปิดช่องให้สามารถว่าจ้างแรงงานทักษะได้ในอนาคต
"คำว่ากรรมการใช้ไม่ได้กับบ้านเราแล้ว เพราะเราขาดแคลนตั้งแต่กรรมกรจริงๆ ไปจึงถึงช่างฝีมือ ฉะนั้นควรแก้กฎหมายเปิดช่องตรงนี้ไว้ด้วย"นายวิระชัย กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้นายจ้างสามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู โดยขออนุญาตทำงานได้ 2 งาน คือ งานกรรมกร และ คนรับใช้ในบ้าน
- 14 views