เมื่อมีเหตุที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่ว่าด้วยสาเหตุความเจ็บป่วย หรือตรวจสุขภาพ สิ่งแรกที่ต้องได้รับการตรวจวัดเป็นประจำก่อนเข้าพบแพทย์คือการวัดระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญของหลอดเลือดทั่วร่างกาย แต่น้อยคนนักที่จะมีความรู้และเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวเลขระดับความดัน ซึ่งมีทั้งความดันตัวบน ความดันตัวล่าง และระดับความดันที่เท่าไรจึงจะบอกได้ว่าอยู่ในภาวะความดันสูง หรือความดันปกติ และตัวเลขที่เท่าไรที่จะต้องพึงระวังว่ากำลังถูกคุกคามจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ต้องการการดูแลจากแพทย์

แม้ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสิ่งที่ไม่ได้คร่าชีวิตผู้ป่วยโดยตรง แต่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งของอัตราการเสียชีวิตทั่วโลก โดยภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคทางหลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกมากกว่า 6-7 ล้านรายทุกปี[1]

นอกจากนี้ ความดันโลหิตสูงถือเป็นหนึ่งในความเจ็บป่วยที่คุกคามคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นความดันโลหิตสูงกว่า 10 ล้านคน แต่ร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว[2] เนื่องจากความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อป่วยเป็นเวลานานจึงจะเริ่มมีอาการปวด มึน หรือวิงเวียนศีรษะ รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา หรืออาจมีอาการอื่นๆ อันเป็นผลข้างเคียงจากภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคทางหลอดเลือด หรือโรคอื่นที่พบร่วมกัน เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรหาโอกาสตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้รู้ทันทุกสัญญาณอันตรายและภัยร้ายที่มาจากภาวะความดันโลหิตสูง อีกทั้งในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น การวัดความดันโลหิตได้ถูกพัฒนาให้ตอบสนองการใช้ชีวิตสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เช่น ผ้าพันแขนที่บีบรัดน้อยลง ความรวดเร็วในการวัด แอพพลิเคชั่นสำหรับบันทึกค่าความดัน หรือข้อมูลสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข

ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข ให้ข้อมูลว่า “ความดันโลหิตหมายถึงแรงดันของเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยคำนึงถึงแรงต้านจากการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบร่วมกับโรคอื่นได้บ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การติดอาหารรสเค็มจัด ความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันพบผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงมากถึงร้อยละ 50 ของผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป[3] หากไม่ได้รับการรักษาหรือขาดการควบคุมความดันอย่างถูกต้อง เมื่อปล่อยไว้นานหลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ เลือดจึงไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะไม่พอ ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมายที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคจอประสาทตาเสื่อม ตลอดจนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคไตวาย ซึ่งอาจเฉียบพลันและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการวัดระดับความดันโลหิต เพื่อหาทางป้องกันความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ และภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน”

แม้ภาวะความดันโลหิตสูงไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การลดการรับประทานอาหารรสเค็ม การลดน้ำหนัก การรับประทานพืชผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ เกลือแร่ และวิตามิน การออกกำลังกายเพื่อประสิทธิภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การเลิกบุหรี่และสุรา รวมถึงการหมั่นระวังอารมณ์และความเครียดซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระดับความดันโลหิต

“ที่สำคัญอย่างยิ่ง ผู้มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงควรหาโอกาสตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ และไม่ควรรอให้มีอาการก่อนจึงเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาล หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงและเริ่มให้ยารักษาแล้ว การวัดระดับความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอาจจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยใส่ใจและคอยติดตามการรักษามากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถลดภาวะแทรกซ้อน และค่าใช้จ่ายในการใช้ยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยควรมีความเข้าใจประกอบด้วยว่า ความดันโลหิตของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นไม่เท่ากัน จึงแนะนำให้วัดความดันโลหิตวันละสองครั้งตอนเช้าและตอนเย็นเพื่อการวินิจฉัย ติดตามการรักษาหรือเมื่อสงสัยมีอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษา โดยระดับความดันโลหิตที่ถูกจัดว่ามีความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ คือค่าความดันโลหิตตัวบนมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ในกรณีที่วัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดแบบปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวบนมีค่าตั้งแต่ 135 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างมีค่าตั้งแต่ 85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ในกรณีวัดด้วยเครื่องดิจิทัล” ผศ.นพ.สุรพันธ์ กล่าวเสริม



[1] http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs317/en

[2] http://thaincd.com/document/file/download/paper-manual/Annual-report-2015.pdf

3 http://www.hed.go.th/news/6875