กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือภาคประชารัฐ สร้างอาคารแพทย์แผนไทย–กายภาพบำบัด รพ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ยกระดับบริการด้านการแพทย์แผนไทย รองรับสกลนครเมืองต้นแบบสมุนไพร มหานครแห่งพฤกษเวช ในปี 2560 มีนโยบายให้ รพ.สต.มีบุคลากรแพทย์แผนไทยครบทุกแห่ง ให้บริการแบบครบวงจรทุกพื้นที่ แม้พื้นที่ห่างไกล

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ที่จ.สกลนคร นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร

นพ.โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ ให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ดำเนินการดังนี้

1.การพัฒนาระบบบริการ โดยจัดทำแผนการจัดบริการ (Service plan) สาขาการแพทย์แผนไทย เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.พัฒนางานแพทย์แผนไทยให้เป็นงานหลักในบริการระดับปฐมภูมิ อาทิ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่ อย่างน้อยอำเภอละ 2 แห่ง

3.พัฒนาโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ

และ 4.ส่งเสริมการนวดไทยให้เป็นมรดกโลก

ส่วนการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมยาสมุนไพร ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พัฒนาเมืองสมุนไพร 4 ภาคในรูปแบบประชารัฐ โดยจังหวัดสกลนครเป็น 1 ใน 4 จังหวัดต้นแบบเมืองสมุนไพร มหานครแห่งพฤกษเวช มีการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร ทั้งการเพาะปลูก การแปรรูป และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเด่นประจำพื้นที่ รณรงค์การใช้ยาแพทย์แผนไทยประจำท้องถิ่นแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ในปี 2560 มีนโยบายให้ รพ.สต.มีบุคลากรแพทย์แผนไทยครบทุกแห่ง ให้บริการแบบครบวงจรทุกพื้นที่ แม้พื้นที่ห่างไกล

สำหรับโรงพยาบาลโพนนาแก้ว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 เดิมเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ต่อมาปี 2538 ยกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง และได้เปิดให้บริการแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัดเมื่อปี 2551 ปัจจุบันพื้นที่บริการไม่เพียงพอรองรับบริการดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพระดับอำเภอและพระราชวิสุทธินายก เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ได้จัดงานบุญผ้าป่าสามัคคีและสร้างพระกริ่งภูริทัตโตให้ประชาชนทั่วไปบูชาเพื่อสมทบทุนสร้างอาคารแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด โดยตั้งชื่ออาคารว่า “อาคารภูริทตฺตเถระแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด” ขยายพื้นที่ให้การบริการ ลดความแออัด ผู้ป่วยมารับบริการ ให้บริการแพทย์แผนไทย-กายภาพบำบัด สำหรับประชาชนชาวโพนนาแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง 

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารแห่งนี้มาจากเงินบริจาคจำนวน 2.4 ล้านบาท เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว พื้นยกสูง พื้นที่ให้บริการ 72 ตารางเมตร ให้บริการตรวจรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนไทย นวด อบ ประคบ ปรุงยาแผนไทยเฉพาะราย เช่น โรคปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม บริการด้านกายภาพบำบัด รณรงค์การใช้ยาแพทย์แผนไทยแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน เช่น สวนสมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนธันวาคม 2560 พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2561

ทั้งนี้ โรงพยาบาลโพนนาแก้ว เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง ให้บริการจริง 38 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 62 ในปี2559 มีผู้ป่วยนอก 68,211 คน เฉลี่ย 187คนต่อวัน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคอันดับ 1 ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ท้องอืด ไข้หวัด หอบหืด ตามลำดับ มีผู้ป่วยในจำนวน 2,689 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัส ท้องร่วง เบาหวาน ปอดบวม