“หมอเฉลิมชัย” รองประธาน กมธ.สาธารณสุขชี้ เครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ไม่ใช่เป้าหมายหลักของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ แต่ถูกร่างแหโดนมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น เผยทุกฝ่ายเห็นพ้องออกกฎกระทรวงให้ยกเว้นได้ ส่วนระหว่างนี้กระทรวงวิทย์ฯ ให้ถือว่า แพทย์-ทันตแพทย์ที่ผ่านการเรียนด้านรังสีวิทยาเป็นผู้มีความรู้ที่จะดูแลเครื่องเอ็กซเรย์ในคลินิกไปได้พลางก่อน
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. กมธ.สาธารณสุข ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลในประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุขที่มีการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ โดยเชิญทั้งฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบและฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนตัวแทน กมธ.ชุดที่ออกกฎหมายดังกล่าวมาร่วมหารือกัน
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า โดยหลักการของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ต้องการดูแลความปลอดภัยในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานปรมาณูในภาพรวม ซึ่งมีทั้งเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนการใช้รังสีทางด้านเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ มีการวางกฎเกณฑ์การขอใบอนุญาต มีการวางมาตรการอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งเหมาะสมกับกรณีที่มีเครื่องกำเนิดรังสีใหญ่ๆ และมีการกำหนดโทษที่รุนแรงด้วย
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครอบคลุมมาถึงอุปกรณ์ด้านสาธารณสุขซึ่งไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักในการกำกับ แต่เมื่อมีการวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลอย่างเข้มข้น ก็เกิดประเด็นว่าเครื่องเอ็กซเรย์เล็กๆ ในคลินิกทันตกรรมหรือตามคลินิกทั่วไป ก็ต้องถูกมาตรการเหล่านั้นกำกับด้วย เช่น ต้องมีการขออนุญาต ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ผ่านการสอบและต้องอยู่ประจำเครื่อง
“การหารือเป็นไปเชิงสร้างสรรค์ และน่าจะได้ข้อยุติคือจะไปหาทางออกกฎกระทรวงที่จะช่วยผ่อนคลายตรงนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันหมด รวมทั้งตัวแทนของ กมธ.ที่ออกกฎหมายฉบับนี้ก็บอกว่าเจตนารมณ์ต้องการดูแลรังสีปรมาณูใหญ่ๆ แต่ก็ตระหนักว่าอาจมีผลกับเครื่องเอ็กซเรย์เล็กๆ น้อยๆ จึงเปิดช่องทางให้ไปออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์เล็กๆ ตามคลินิคได้” นพ.เฉลิมชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้การออกแบบกฎหมายจะให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 6 เดือน เพื่อออกกฎกระทรวงแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เสียก่อน แต่เพราะเหตุใดไม่ทราบ กฎกระทรวงยังไม่ออก ซึ่งทางปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ให้ข้อมูลว่าได้ประชุมกับสภาวิชาชีพไป 2-3 รอบและคาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะได้ออกกฎกระทรวงโดยเร็ว ซึ่งถ้าออกกฎกระทรวงยกเว้นได้แล้ว ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น คลินิกทันตกรรม 6,000 แห่ง คลินิกแพทย์อีกนับหมื่น รวมทั้งสถานบริการ สถานสัตวแพทย์ หรือเทคนิคการแพทย์บางแห่ง ก็น่าจะไม่ต้องถูกบังคับใช้มาตรการเข้มข้นอย่างที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนในขณะนี้
ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่กฎกระทรวงยังไม่ออก ก็จะมีการผ่อนคลายโดยให้ผู้ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิต หรือทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ที่ได้เรียนเกี่ยวกับรังสีวิทยาในหลักสูตรอยู่แล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ที่จะดูแลเครื่องเอ็กซเรย์ในคลินิกไปได้พลางก่อน
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้การยกเว้นหรือไม่ได้เรียนรังสีวิทยามา ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รับข้อเสนอแนะว่า จะไปปรับปรุงข้อสอบให้ตรงกับการใช้งานจริง หลังจากมีเสียงสะท้อนว่าข้อสอบวัดความรู้กว้างเกินกว่าที่ใช้งานจริง เช่น เครื่องนี้เกี่ยวกับเฉพาะเอ็กซเรย์ฟันหรือร่างกาย แต่ข้อสอบไปวัดเรื่องฟิสิกส์ เรื่องนิวเคลียส ฯลฯ ซึ่งอาจจะเหมาะกับเครื่องกำเนิดรังสีอื่นๆ
“อันนี้น่าจะออกเป็นประกาศ เพราะสามารถออกได้โดยง่าย แต่สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ครบถ้วนสมบูรณ์คือการออกกฎกระทรวง ผมถึงพูดว่านางฟ้าอยู่ที่หลักการ คือเราอยากควบคุมนิวเคลียร์ให้ถูกต้อง แต่ซาตานในรายละเอียดคือมีผลกระทบกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยโดยไม่ได้ตั้งใจ” นพ.เฉลิมชัย กล่าว
- 5 views