ครม.ไฟเขียวยกเลิกเพดานค่ารักษาพยาบาล 1,000,000 บาทกรณีบาดเจ็บจากการทำงาน ยันไม่ได้เพิ่มภาระนายจ้างเพราะใช้เงินกองทุนเงินทดแทน ด้านประกันสังคมชี้เงินกองทุนรองรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.พ. 2560 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลให้นายจ้างจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญคือการขยายอัตราค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้สำหรับกรณีเบื้องต้นที่ 50,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท เป็นไม่จำกัดจำนวนจนสิ้นสุดการรักษา เนื่องจากตามเกณฑ์เดิมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างและผู้ที่อยู่ในอุปการะของลูกจ้างด้วย
นายณัฐพร กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการรักษา โดยให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา อย่างไรก็ตามกรณีที่มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรก แต่ภายหลังได้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ก็ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา
นายณัฐพร กล่าวว่า แม้กรณีนี้จะเป็นการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลให้นายจ้างจ่าย แต่ก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้แก่นายจ้างเพราะเป็นการใช้เงินจากเงินกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม ภาระที่เพิ่มขั้นจะอยู่ที่กองทุนเงินทดแทน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมระบุว่าเงินทุนปัจจุบันสามารถรองรับได้
นายณัฐพร กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าควรเร่งรัดให้สถานการณ์ประกอบการและนายจ้างดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงานเพื่อลดอัตราการสูญเสียและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อันมีผลกระทบต่อสภาพคล่องและสถานะของเงินกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม
- 6 views