ผอ.รพ.ป่าตอง เสนอ ‘โมเดล’ แก้ปัญหาสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เสนอตั้ง Station ส่วนหน้า ลดปัญหาสถานบริการแออัด เปิดช่องว่างให้โรงพยาบาลสร้างรายได้ ชี้ “นายจ้าง” ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ เหตุได้รับประโยชน์จากแรงงานมากที่สุด ชงเก็บเงินผู้ประกอบการตั้งกองทุน
นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่งเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าใน จ.ภูเก็ตว่า ปัญหาของโรงพยาบาลในขณะนี้คือแน่นแออัดและไม่มีแหล่งรายได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีทำให้โรงพยาบาลมีช่องว่างสำหรับสร้างรายได้ เพื่อนำเงินไปใช้ดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติ
นพ.ศิริชัย เสนอว่า โรงพยาบาลรัฐควรจัดตั้ง Station สำหรับดูแลแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลหรือไปเช่าสถานที่นอกโรงพยาบาลก็ได้ โดย Station นั้นจะทำหน้าที่เป็นแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และทำการดูแลเบื้องต้น แต่หากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาระดับสูงค่อยส่งตัวเข้ามารักษาต่อที่โรงพยาบาล
สำหรับการจัดตั้ง Station เป็นไปเพื่อลดความแออัดและเปิดช่องว่างให้กับโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีช่องว่างสำหรับรักษาผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ ชาวต่างชาติ หรือผู้ที่มีกำลังจ่าย โรงพยาบาลก็จะมีรายได้เพิ่ม เมื่อโรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ก็สามารถนำเงินมาจัดบริการให้กับแรงงานข้ามชาติได้
“เมื่อโรงพยาบาลมีช่องว่างก็จะมีแหล่งรายได้เข้า แต่ทุกวันนี้สภาพของโรงพยาบาลมันแน่นไปหมด ไม่มีแหล่งสร้างรายได้ หรืออย่างผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ทุกวันนี้เขาก็ไม่อยากรอนาน ไม่ต้องการโรงพยาบาลแออัด เขาก็เลือกที่จะไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ไม่มีสภาพความแออัดเช่นนี้ สุดท้ายเงินก็ไม่เข้าโรงพยาบาล” นพ.ศิริชัย กล่าว
นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ในทางธุรกิจแล้วหากปล่อยให้ภาคส่วนที่ไม่ได้กำไรกินพื้นที่ทั้งหมดของธุรกิจไปแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เทียบเคียงประเทศไทยที่ขายข้าวซึ่งได้กำไรน้อยเพียงอย่างเดียวถามว่าประเทศจะไปรอดหรือไม่ ฉะนั้นโรงพยาบาลอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด จัดลำดับความสำคัญและรายได้ใหม่
นอกจากนี้ ในส่วนของค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับดูแลแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันพบว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าต้องเป็นภาระของใคร ถามว่าหากไปเก็บจากผู้ใช้แรงงานเพิ่มเขาจะมีจ่ายหรือไม่ หรือทางโรงพยาบาลหรือรัฐบาลมีเงินสำหรับอุดหนุนส่วนนี้หรือไม่ ทั้งหมดก็คือตอบว่าไม่มีเงิน
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีเงินและได้รับประโยชน์สูงสุดจากแรงงานข้ามชาตินั่นก็คือผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าบริษัทที่จ้างแรงงานข้ามชาติไปใช้ก็ควรช่วยรับผิดชอบดูแลชีวิตของแรงงานเหล่านั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เก็บจากนายจ้างหัวละ 10 บาท หรือหัวละ 100 บาท ก็ได้เงินหลายร้อยล้านบาทแล้ว จากนั้นก็เอาเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้เป็นกองกลางในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในด้านต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ
นพ.ศิริชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ประกอบการหรือนายจ้างจะไม่มีปัญหา เพราะอัตราการเก็บเงินคงไม่มากมายถึงกับเอาให้เขาตาย เพียงแต่เก็บเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ เพราะที่สุดแล้วหากแรงงานไม่ได้รับการดูแล จนเขาไม่มีแรงงานไว้ใช้งาน ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะเสียหายมากกว่าอย่างแน่นอน
“คุณก็แค่จ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อย มันแค่ขาดทุนในส่วนของกำไร คือกำไรลดน้อยลง เช่น คุณต้องจ่ายเพิ่มอีก 10% ของกำไร จากคุณจะได้กำไร 100 บาท คุณก็อาจจะเหลือสัก 90 บาท แต่ถ้าคุณไม่มีแรงงานเลยมันหายไปทั้ง100 บาท อย่างแน่นอน ฉะนั้นจึงคิดว่าแนวทางการตั้งกองทุนโดยให้ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยรับผิดชอบด้วยน่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง” นพ.ศิริชัย กล่าว
นพ.ศิริชัย กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเหมือนปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจะมาอ้างว่างทำให้เศรษฐกิจเจริญด้วยการปล่อยมลพิษปล่อยน้ำเสียคงไม่ได้ ผู้ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ เช่นเดียวกับแรงงานที่เข้ามา ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คือนายจ้าง ฉะนั้นจะมาผลักให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบหรือก็คือประชาชนที่เสียภาษีมารับผิดชอบฝ่ายเดียวคงไม่ถูก
“ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะแรงงานข้ามชาติ แต่ในกลุ่มของนักท่องเที่ยว ฝรั่ง ที่มานอนรักษาพยาบาลและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็มีจำนวนมาก สถานทูตก็ไม่รับกลับ แต่ละปีเราต้องเสียเตียงและค่าใช้จ่ายให้ฝรั่งนอนอยู่เฉยๆ เป็นจำนวนมาก อย่างโรงพยาบาลป่าตองเสียปีละ 1 ล้านบาท หากไปขอรัฐบาลก็คงไม่สามารถช่วยได้ เพราะมันเป็นเอ็นพีแอล (หนี้สูญ) ดังนั้นอาจแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการเก็บเงินนักท่องเที่ยวตั้งแต่เข้ามาประเทศก็ได้” นพ.ศิริชัย กล่าว
อนึ่ง โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต นับว่าเป็น 1 ในโรงพยาบาลแม่แบบในการจัดบริการสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างดีจนได้รับเสียงชื่นชม โดยสามารถบริหารจัดการงบประมาณภายในจนสามารถให้การรักษาแรงงานข้ามชาติได้ตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงคลอดบุตรและทารกสามารถออกใบรับรองการเกิด และนำไปสู่การแจ้งเกิดได้เกือบ 100%
- 25 views