เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จ.ภูเก็ต ประเมินสถานการณ์ พบปัญหาเข้าถึงสิทธิสุขภาพรุนแรง โดยเฉพาะกรณีหญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร ระบุ พบโรงพยาบาลไม่ยอมขายบัตรประกันสุขภาพ และขวางการใช้สิทธิคลอดบุตร-รักษาลูก
เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต (Migrant Worker’s Network in Phuket : MNP) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ 5 องค์กร ใน จ.ภูเก็ต ร่วมกันเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2560 บริเวณซอยการเคหะฯ ภูเก็ต 2ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวพม่ากว่า 3.5 แสนราย ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน จ.ภูเก็ต ประเทศไทย
นายออง นาย ที่ปรึกษาเครือข่าย MNP กล่าวสรุปสถานการณ์แรงงานพม่าใน จ.ภูเก็ต ระหว่างการเปิดสำนักงานฯ ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้แรงงานข้ามชาติ จ.ภูเก็ต ประสบกับปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีสตรีตั้งครรภ์และบุตรที่คลอดออกมา ซึ่งปกติแล้วทั่วประเทศไทยทั้ง 77 จังหวัด แรงงานที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพราคา 2,100 บาทนั้น จะได้รับสิทธิคลอดบุตรในสถานบริการต้นสังกัด และบุตรจะได้รับการคุ้มครองรักษาพยาบาลในช่วง 28 วันแรกของการคลอด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใน จ.ภูเก็ต ก็คือที่ผ่านมาแรงงานซึ่งมีบัตรประกันสุขภาพกลับถูกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งปฏิเสธการใช้สิทธิคลอดบุตร ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างรุนแรง นั่นเพราะแรงงานได้ซื้อสิทธิแล้วและที่อื่นก็ใช้ได้ มีเพียง จ.ภูเก็ต แห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้ไม่ได้
“ที่ผ่านมาเรามีการไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องสิทธิตรงนี้ และสุดท้ายโรงพยาบาลดังกล่าวก็ยินยอมให้แรงงานพม่าที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพใช้สิทธิคลอดบุตร แต่กลับพบปัญหาใหม่คือโรงพยาบาลไม่ยินยอมที่จะให้ต่ออายุบัตรประกันสุขภาพ โดยที่ผ่านมาไม่ยินยอมขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานหญิงที่มีครรภ์เพราะไม่คุ้มค่า แต่ล่าสุดคือไม่ยินยอมขายให้กับแรงงานข้ามชาติทุกกรณี” นายออง นาย กล่าว
นายออง นาย กล่าวอีกว่า เมื่อสิทธิการคลอดบุตรไม่สามารถใช้ได้จริง แรงงานซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงคือบางรายก็ไม่ได้รับอย่างเต็มจำนวนนั้น จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน มาใช้เป็นค่าคลอดบุตร
“เวลาเข้าโรงพยาบาลแพทย์ก็จะแนะนำให้ผ่าคลอด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท นั่นทำให้แรงงานต้องไปกู้เงินและเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 4,000 บาท มากไปกว่านั้นคือแรงงานพม่ามักจะมีปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร ส่งผลให้ลูกที่คลอดออกมาตัวเหลืองและจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลังคลอด แต่ปัญหาก็คือลูกแรงงานกลับไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล 28 วันหลังคลอด นั่นทำให้พ่อแม่ต้องหาเงินมาจ่ายในส่วนนี้เพิ่มเติม นั่นคือความเดือดร้อนของแรงงานซึ่งกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม”นายออง นาย กล่าว
นายออง นาย กล่าวต่อไปว่า โดยปกติแล้วบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานตามหลักสิทธิมนุษยชนคือไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ แต่ข้อเท็จจริงที่พบในปัจจุบันก็คือยังมีการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้โดยปกติแล้วแพทย์ควรชี้แจงต่อผู้ป่วยให้ชัดว่าป่วยเป็นอะไร มีแนวทางการรักษาอย่างไร ค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไร แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือแพทย์ก็จะรักษาอย่างเดียว ส่วนคนเก็บเงินก็เก็บเงินอย่างเดียว โดยที่แรงงานไม่รับรู้ข้อมูลเลยว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไร และมีกำลังจ่ายหรือไม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผอ.รพ.แม่สอดชี้ ต้องขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ยิ่งเยอะยิ่งดี เกลี่ยช่วยกลุ่มยากไร้ได้
รอง สสจ.ภูเก็ต ยืนยัน แรงงานข้ามชาติยังซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ แต่ต้องตรวจร่างกายผ่าน
- 60 views