กองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.สระบุรี ต้นแบบการดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ “สิ่งสำคัญของความสำเร็จของโครงการ นอกจากคณะกรรมการกองทุนฯ บุคลากรในโครงการฯจะมีใจแล้ว ข้อมูลและการมีส่วนร่วมก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำเนินงาน” ด้านคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.อยุธยา เร่งนำร่อง 4 อำเภอ มี รพ.เสนา เป็นแกนขับเคลื่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี (อบจ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี (กองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.สระบุรี) ให้การต้อนรับ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.พระนครศรีอยุธยา) ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการธนาคารเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุที่บ้านเขตอำเภอเสนาและโซนนาคราชซ้าย ของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี (กองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.สระบุรี)
นายสุจิน บุญมาเลิศ รักษาการปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ ให้การต้อนรับและบรรยายรูปแบบการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี และการบริหารจัดการธนาคารเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุ
นพ.ศุภศิลป์ จำปานาค นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสระบุรี บรรยายโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน หรือโปรแกรม SNAP
โดยมี พญ.สุดใจ บุญยกิจโณทัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นำคณะกรรมการฯร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมด้วย นางสุวรรณี ศรีปราชญ์ หัวหน้างาน สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานแก่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีคณะกรรมการฯจากหลายภาคส่วนได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลเสนา องค์กรคนพิการ องค์กรภาคประชาสังคม และ อบจ.พระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมกว่า 40 คน
นายสุจิน บุญมาเลิศ รักษาการปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี ดำเนินการมีเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบของผู้แทนจาก อบจ.สระบุรี ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนหน่วยบริการ ผู้แทนจากผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและผู้แทนจากกลุ่ม องค์กร ชมรมภาคประชาชนคนพิการ และเหล่ากาชาดจังหวัด ตามบทบาทหน้าที่ประกอบด้วย ด้านจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านข้อมูลและการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และด้านบริหารจัดการ
โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแล ครอบคลุมประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง หรือที่รู้จักคือ 30 บาทรักษาทุกโรค แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.คนพิการที่ลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ท.74) 2. ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ 3.ผู้ป่วยที่พ้นระยะเฉียบพลัน (Acute phase) ที่อยู่ในระยะที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Sub-acute phase)
สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี โดย อบจ.สระบุรีร่วมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี สนับสนุนงบประมาณภายใต้จำนวนประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงาน ซึ่งปี 2556 สปสช.เขต 4 สระบุรี สนับสนุนงบประมาณ 2.2 ล้านบาท อบจ.สระบุรี สมทบครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ สปสช.เขต 4 สระบุรีสนับสนุน จำนวน 2.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี รวมจำนวน 4.4 ล้านบาท ปี 57 งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี รวมจำนวน 10 ล้านบาท ปี 58 งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี รวมจำนวน 10 ล้านบาท ส่วนปี 59 งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี รวมจำนวน 10 ล้านบาท และปี 60 งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ อบจ.สระบุรี รวมจำนวน 8 ล้านบาท มีการดำเนินงานตามโครงการใน 4 ปี รวมจำนวน 38 โครงการ
นพ.ศุภศิลป์ จำปานาค หรือหมอโจ้ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของความสำเร็จของโครงการ นอกจากคณะกรรมการกองทุนฯ บุคลากรในโครงการฯจะมีใจแล้ว ข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำเนินงาน ซึ่งจังหวัดสระบุรี มีจำนวนคนพิการรวม 14,132 คน พบว่าคนพิการประเภทพิการทางความเคลื่อนไหวมากที่สุด รองลงมาประเภทความพิการทางการได้ยิน และความพิการทางสติปัญญา สำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ เช่น เตียงผู้ป่วย ที่นอนลม เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ รถเข็น รถเข็นโยก ไม้ค้ำยัน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ตลอดจนการปรับสภาพบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินงานชีวิตของคนพิการ โดยบริหารจัดการผ่านโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน หรือโปรแกรม SNAP ซึ่งเน้นสร้างระบบการดูแลที่บ้านเพื่อให้เข้าถึงตัวผู้ป่วย พัฒนาฐานข้อมูลและการส่งต่อผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน การจดทะเบียนคนพิการ ที่สามารถจดผ่านระบบการถ่ายวิดีโอเพื่อการเข้าถึงสิทธิ
ในส่วนผู้ป่วยติดเตียงเน้นการดูแลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอควบคู่กับการประเมินอาการที่เหมาะสม โดยมี อบจ.สระบุรีและ รพ.สระบุรี บริหารจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ในรูปแบบของคลังกายอุปกรณ์ ด้วยเครื่องมือโปรแกรม SNAP และมีการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นตัวเสริม ซึ่งเกิดการดูแลระบบร่วมกันระหว่าง อบจ. สสจ. หน่วยบริการ สปสช. พมจ. และเหล่ากาชาดจังหวัด
ทั้งนี้ในปี 2560 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำร่องโครงการธนาคารเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุที่บ้านเขตอำเภอเสนาและโซนนาคราชซ้ายในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอลาดบัวหลวง และอำเภอบางซ้าย ภายใต้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- 77 views