คณะกรรมการสรรหาฯ เปิดให้หน่วยงาน องค์กรและผู้สนใจ ทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน บุคลากรสาธารณสุข อสม. สถานพยาบาลเอกชน ร้านขายยา และองค์กรพัฒนาเอกชน ส่งผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการเขตฯ ทั้ง 13 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. - 7 ก.พ.นี้ ประกาศผลคัดเลือกกลางเดือนมีนาคมนี้
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนว่า หลังจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.2559 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน แล้ว โดยมี นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ทำหน้าที่กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์วิธีการการสรรหา รวมถึงคัดเลือก หรือดำเนินการใดให้ได้มาซึ่งกรรมการในคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)
“กระบวนการสรรหา กขป. จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งของกรรมการสรรหาฯ และฝ่ายเลขานุการร่วม ที่จะมีผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในทุกเขต รวมทั้งผู้แทนกรุงเทพมหานคร จะมีบทบาทในเขตกรุงเทพฯ ด้วย เรียกได้ว่าบูรณาการงานไปพร้อมกันนับแต่เริ่มก้าวแรกเลย”
นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ประธานกรรมการสรรหา กล่าวว่า องค์ประกอบของ กขป.แต่ละเขตพื้นที่นั้น จะมีทั้งสิ้น 45 คน ยกเว้นเขตพื้นที่ 13 (กทม.) มีจำนวน 46 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1) ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2) ผู้แทนจากผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ หมายถึงผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านสุขภาพ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุข
และ 3) ผู้แทนจากภาคประชาสังคมและเอกชน ได้แก่ เครือข่ายหรือองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรด้านต่างๆ อาทิ ด้านเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เครือข่ายหรือองค์กรสื่อมวลชน ผู้แทนสถานพยาบาลเอกชน และกลุ่มชมรม เครือข่ายร้านยา รวมถึงผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัดด้วย
“การสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้ง 13 พื้นที่ทั่วประเทศ กำลังเริ่มต้นพร้อมกัน ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ เกณฑ์การให้คะแนน และกำหนดเวลารับสมัครในการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเรียบร้อยแล้ว ผมจึงอยากเชิญชวนหน่วยงาน องค์กรและผู้สนใจสมัครเป็น กขป. และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ส่งใบสมัครเข้ารับการสรรหา ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560”
นพ.ทวีเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กขป.จะมีบทบาทหน้าที่หลัก คือ
1.กำหนดเป้าหมาย ทิศทางและยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ บูรณาการภารกิจ อำนาจหน้าทื่และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
2.ให้ข้อเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานงานกับ กขป. ในเขตพื้นที่อื่น
และ 3.ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และรายงานผลต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
“ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 สุขภาพหมายความมากกว่าเรื่องมดหมอหยูกยาแล้ว สุขภาพครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิต สังคม ปัญญา ดังนั้น ระบบสุขภาพจึงมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งสร้างสุขภาพ และซ่อมสุขภาพ จึงไม่สามารถปล่อยเป็นหน้าที่ของใครหรือหน่วยงานใดเพียงลำพัง เขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะเป็นกลไกสานพลังความร่วมมือและบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมี คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนเป็นฟันเฟืองสำคัญ ทำให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”
ทั้งนี้ หน่วยงาน องค์กร และผู้สนใจสมัครเป็น กขป. และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ www.nationalhealth.or.th หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โทร. 02-832-9090 หรือศูนย์ประสานงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ และคณะกรรมการสรรหาฯ จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับการสรรหา ระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2560 และเสนอชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อประกาศต่อสาธารณะในวันที่ 18 มีนาคม 2560 ต่อไป
- 26 views