รองปลัด สธ.เผย ยังมีพื้นที่ขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก มีหมอประจำโรงพยาบาลคนเดียวอีกประมาณ 20 อำเภอในภาคเหนือและอีสาน ต้องโยกหมอ ODOD ข้ามจังหวัดไปช่วย ชี้ปัญหาหมอลาออกมาจากภาระงานหนักและไม่อยากไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชิน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ขาดแคลนแพทย์และการลาออกของแพทย์จบใหม่ว่า ในหลายพื้นที่มีจำนวนแพทย์เพียงพอแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก เช่น มีแพทย์ประจำโรงพยาบาลเพียงคนเดียว กลุ่มนี้มีประมาณ 20 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

นอกจากนี้ หากพิจารณากรอบอัตรากำลัง เช่น กรอบมี 7 อัตรา แต่มีกำลังคนจริง 4-5 คน การขาดแคลนบุคลากรในลักษณะนี้ ถือว่ามีเยอะมาก และไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะแพทย์ แต่ยังขาดแคลนพยาบาลด้วย ซึ่งสาเหตุก็มาจากนโยบายการจำกัดจำนวนข้าราชการของรัฐบาล

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ พยายามแก้ไขปัญหา โดยขออัตรากำลังเพิ่มจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขอตำแหน่งเพิ่มให้พยาบาล ได้มีการหารือกันมานานก็ยังไม่ได้สักที

“เราก็เข้าใจว่ารัฐบาลมีภาระทำให้ต้องเข้มงวดตรงนี้ แต่เราก็มีภาระมากขึ้น ถ้าดูจำนวนคนไข้ 10 ปีที่ผ่านมา คนไข้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่อัตรากำลังไม่เพิ่มเลย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น ได้ปรับเงื่อนไข โดยให้แพทย์ที่จบจากโครงการ ODOD ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องทำงานในถิ่นที่อยู่ ห้ามย้าย ก็ปรับเป็นให้โอนย้ายภายในเขตสุขภาพได้ เช่นที่ผ่านมา จ.กาฬสินธุ์ ขาดแคลนแพทย์ ก็มีการย้ายแพทย์จากโครงการ ODOD จาก จ.ขอนแก่น เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระ เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้นหรือการต้องไปอยู่ในที่ห่างไกล ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้องๆ แพทย์จบใหม่ ไม่อยากไปอยู่ เมื่อทำงานใช้ทุนปีแรกเสร็จก็ลาออก

“ปัญหาการลาออก ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว หมอจบใหม่เริ่มทำงาน ถ้าในอำเภอทั่วๆ ไป เงินเดือนบวกค่าตอบแทน ค่าเวร ฯลฯ น่าจะได้ 50,000 บาทขึ้นไป แต่เป็นอำเภอที่ขาดแคลนแพทย์ ชนิดอยู่เวรวันเว้นวัน บางคนได้ 70,000 - 90,000 บาท ดังนั้นเงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ผมคิดว่าเป็นเพราะภาระงานและสถานที่ ไปแล้วอยู่เวรวันเว้นวัน งานหนัก ต้องไปในที่ที่ไม่เคยไป เขาก็ไม่อยากไป ส่วนปัญหาระบบการทำงาน เช่น Refer แล้ว โรงพยาบาลจังหวัดไม่รับ แบบนี้น่าจะเหลือน้อยแล้ว ถ้าจังหวัดไหนที่ยังมีปัญหาขอให้แจ้งเข้ามา เราจะได้ช่วยแก้ปัญหา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นักเรียนทุน ODOD เข้ามาช่วยแก้ปัญหาแพทย์ลาออกได้เยอะ จากการประเมินผลที่ผ่านมา แพทย์จากโครงการนี้อยู่ติดพื้นที่ มี Turn Over Rate น้อย ทาง สธ.ก็พยายามเติมกำลังคนจาก ODOD เข้าไป แต่ก็มีข้อจำกัดว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้รับนักศึกษาเพิ่มแบบก้าวกระโดด

ขณะเดียวกัน สธ.ยังมีนโยบาย Primary care cluster ทำคลินิกหมอครอบครัว เพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการปฐมภูมิมากขึ้น ซึ่งก็คาดหวังว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระงานโรงพยาบาล แพทย์ในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ จะได้เบาแรงลง

“ก็หวังว่าตรงนี้จะทำให้ภาระงานที่หนักๆ จนทำให้น้องหมอบางคนต้องลาออกจะน้อยลงไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ดอนจาน กาฬสินธุ์ ขาดหมอขั้นวิกฤติ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

กาฬสินธุ์ขาดแคลนแพทย์หนัก หมอจบใหม่แห่ลาออกหนีพื้นที่ห่างไกล

ผอ.รพ.ดอนจาน ย้ำไม่คิดทิ้งคนไข้แม้ทั้ง รพ.มีหมออยู่คนเดียว

หมอรุ่นใหม่ ทำไมลาออก 'เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อึดอัดกับระบบ'