ยูนิเซฟแนะไทยเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาสมองของเด็กเล็กมากขึ้น ระบุเป็นการวิธีที่ฉลาดที่สุดในการพัฒนาทักษะทางการเรียนรู้ สังคมและอารมณ์ให้แก่เด็ก และยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กในหลายด้าน แต่ยังมีเด็กปฐมวัยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม
แม้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กในหลายด้าน เช่น อัตราการตายของเด็กแรกเกิดลดลงจนอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือการที่ประเทศไทยสามารถยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเด็กปฐมวัยในประเทศไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยข้อมูลสถิติของยูนิเซฟชี้ว่าเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ 1 ใน 6 ในประเทศไทยยังมีภาวะเตี้ยแคระเกร็น นอกจากนี้ เด็กน้อยกว่าครึ่งประเทศมีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึงสามเล่ม ในขณะที่พ่อเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นลำดับแรก เพราะช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเด็ก ซึ่งเราไม่ควรพลาดโอกาสที่สำคัญยิ่งนี้
การศึกษาของศาสตราจารย์เจมส์ เฮคแมน ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทางนโยบายสังคมในช่วงวัยอื่นๆ โดยทุกๆ 1 บาทที่ลงทุนในการศึกษาของเด็กปฐมวัย จะให้ผลตอบแทน 7-10 เท่า นั่นเป็นผลมาจากการที่เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนอัตราการเกิดอาชญากรรมที่น้อยลง
ในช่วงสัปดาห์นี้ ยูนิเซฟได้เปิดตัวแคมเปญใหม่ ชื่อว่า #EarlyMomentsMatter เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต และความจำเป็นของการพัฒนาสมองของเด็ก เพราะเป็นช่วงเดียวของชีวิตที่สมองพัฒนาเร็วที่สุด โดยเซลล์สมองจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ถึง 1,000 ครั้งต่อวินาที โดยการเชื่อมต่อกันนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ และเป็นรากฐานของการพัฒนาทางร่างกายและอารมณ์ในอนาคต
ทั้งนี้ หากเด็กไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งในเรื่องอาหาร การกระตุ้นพัฒนาการ ความรักความอบอุ่น จะส่งผลต่อการเชื่อมโยงของเซลล์สมองในช่วงนี้
ข้อมูลจากวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า มีเด็กเกือบ 250 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการไม่สมวัยเนื่องจากภาวะเตี้ยแคระเกร็นและความยากจน อย่างไรก็ตาม เด็กที่ยากไร้ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้สูงก็เผชิญกับความเสี่ยงนี้เช่นกัน โดยยูนิเซฟประมาณการณ์ว่าเด็กหลายล้านคนกำลังเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางสมองของพวกเขา
ขณะที่ผลการสำรวจพัฒนาการเด็กในปี 2557 โดยกรมอนามัยพบว่า เด็กปฐมวัยไทย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30 มีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ โดยเฉพาะพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา และกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้าน มีผลต่อระดับสติปัญญา ส่งผลต่อการเรียนรู้ ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเป็น AEC
- 21 views