ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ สปสช.จัดระบบให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องซึ่ง สปสช.มีระบบส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านและมีจำนวนเก็บสำรองได้มากเพียงพอ และผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องไปฟอกที่ รพ. สปสช.ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากที่ไหนมีปัญหาก็สามารถหา รพ.สำรองให้ได้ทันที
โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องนั้น จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยขาดน้ำยาล้างไตและยังไม่มีหน่วยบริการใดแจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยยังมีเพียงพอ เนื่องจากถูกส่งไปช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 และรอบการจัดส่งน้ำยาล้างไตครั้งใหม่จะเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่นฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาของผู้ป่วยแล้ว
ด้าน นายทวีสา เครือแพ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยไตที่ต้องรับการฟอกเลือด ได้มีการประสาน อบต. เทศบาล และมูลนิธิต่างๆ ให้ความช่วยเหลือในการเดินทางออกจากพื้นที่ไปยังหน่วยบริการฟอกเลือดที่อยู่ใกล้เคียงแทน ในพื้นที่ของเขต 11 สุราษฎร์ธานีมีดังนี้ จ.ชุมพร ได้แก่ รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์, รพ.ธนบุรีชุมพร และ รพ.วิรัชศิลป์ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ รพ.สุราษฎร์ธานี, รพ.ทักษิณ และ รพ.ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช, รพ.ค่ายวชิราวุธ, รพ.ท่าศาลา, รพ.ทุ่งสง และ รพ.สิชล
นพ.พิทักษ์ ศาสตร์สิงห์ อายุรแพทย์โรคไต รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าว ศูนย์ไตเทียมของ รพ.สุราษฎร์ธานี ได้เตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยฟอกเลือดที่ไม่สามารถไปฟอกเลือดในหน่วยบริการต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องไตเทียมของ รพ.หรือคลินิกเอกชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผู้ป่วยไปใช้บริการไม่ได้ ซึ่งศูนย์ไตเทียมมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีเครื่องฟอกไตเทียมทั้งหมด 12 เครื่อง เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 08.00 น.-24.00 น. วันหนึ่งให้บริการได้ 4 รอบ รองรับผู้ป่วยได้ 48 คนต่อวัน ซึ่งศูนย์ไตเทียมของ รพ.สุราษฎร์ธานี ออกแบบให้รองรับผู้ป่วยฟอกเลือดที่มีอาการแทรกซ้อนหรือมีอาการหนัก หลังจากนั้นเมื่อมีอาการคงที่จะส่งต่อผู้ป่วยให้หน่วยฟอกเลือดทั้งรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเอกชนดูแลต่อไป ที่ผ่านมาจะรับผู้ป่วยจากภาคใต้ตอนบนคือ ชุมพร ระนอง และจาก จ.กระบี่ เนื่องจากอยู่ใกล้
นพ.พิทักษ์ กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากภาวะต่างๆ นั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช.กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลโรคไต มูลนิธิโรคไต และชมรมเพื่อนโรคไต ได้ร่วมกันวางแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในภาวะน้ำท่วมกันเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ จ.สุราษฎร์ประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงได้วางแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเตรียมรับสถานการณ์ เป็นคำแนะนำสำหรับหน่วยไตเทียมในการรับสถานการณ์น้ำท่วม และคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกเลือดในสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ก็สามารถรองรับได้ทั้งหมด
ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยฟอกเลือดใน จ.สุราษฎร์ธานีมีทั้งหมด 365 คน ผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง 422 คน มีผู้ป่วยฟอกเลือดในเขต อ.ท่าชนะ อ.ไชยา และ อ.กาญจนดิษฐ์ที่ประสบอุทกภัย เดินทางมาฟอกเลือดไม่สะดวก 7 คน ซึ่ง มูลนิธิต่างๆ และ อบต./เทศบาล ช่วยอำนวยความสะดวกให้เดินทางมาฟอกเลือดได้
- 306 views