เปิดร่างยุทธศาสตร์ “ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วม” ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ผอ.สำนักอนามัย กทม. จำแนก 5 ประเด็น เน้นบริการปฐมภูมิ-การส่งต่อ พัฒนาระบบการเงิน-การคลัง สร้างฐานข้อมูลสุขภาพกลาง ผลักดันงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม ตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” คุมทิศทางการทำงานหน่วยบริการหลากหลายสังกัดในเขตเมือง
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2559 มีการจัดประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “มติ 8.3 ระบบสุขภาพเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” หัวข้อการรับฟัง (ร่าง)ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ.2560-2570) ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 มีมติเรื่องระบบสุขภาพเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม คณะทำงานก็ได้ดำเนินการตามมติอย่างเข้มข้น เริ่มจากประชุมคณะทำงานในการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน มีอนุกรรมการขับเคลื่อนทำหน้าที่เสนอรายละเอียดต่างๆ โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการประชุมถึง 7 ครั้ง สะท้อนถึงความเร่งด่วนและซับซ้อนของปัญหา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติฯ อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว โดย รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นที่ปรึกษา และปลัด สธ.เป็นประธาน ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขตเมือง อาทิ สธ. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนหลักประกันสุขภาพ กระทรวงการคลัง ซึ่งทั้งหมดจะมาร่วมกันคิดเพื่อร่างเป็นยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นจะต้องอ้างอิงข้อมูลทุกระดับ ตั้งแต่กรอบความร่วมมือหรือพันธะสัญญาระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงอีกหลายๆ นโยบายจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และยังต้องคำนึงถึงข้อมูลระดับประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญที่เน้นเรื่องการให้บริการระบบปฐมภูมิ และแผนอื่นๆ ในระดับกระทรวง ระดับพื้นที่ ทั้งแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร และแผนพัฒนาจังหวัด
“เขตเมืองไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ยังกระจายตัวอยู่ในทุกๆ จังหวัด มีหลายอำเภอที่เข้าสู่ระบบของเขตเมืองแล้ว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาแผนพัฒนาแต่ละจังหวัด เพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ใหญ่ด้วย” นพ.ชวินทร์ กล่าว
นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาในเขตเมืองค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ปัญหาการจราจร หรืออีกหลายมิติที่เกี่ยวโยงกับสุขภาวะ แต่ขณะนี้อยากจะให้น้ำหนักไปที่การบริการสุขภาพก่อน โดยจากการระดมสมองของคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมระบบบริการสุขภาพของทุกๆ เขตเมือง สรุปออกมาได้เป็น 5 ยุทธศาสตร์
ประกอบด้วย
1.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นบริการปฐมภูมิให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรและสามารถเข้าถึงได้ และเพื่อบริหารจัดการให้เกิดการเชื่อมโยงหน่วยบริการเขตเมืองและการส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดสรรกำลังคนให้เหมาะสม และที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
“ในเขตเมืองเรามีหน่วยบริการทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ แต่ที่ผ่านมาก็พบปัญหา เช่น เตียงเต็ม หรือไม่รู้จะส่งต่ออย่างไร หรือการกระจายตัวของบุคลากรที่ดูเหมือนว่าสัดส่วนพอแล้ว แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับพบการกระจุกตัวอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข” นพ.ชวินทร์ กล่าว และว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จก็คือต้องเสริมสร้างศักยภาพให้ประชาชนมีความแตกฉานด้านสุขภาพด้วย
2.การพัฒนาระบบการเงินและการคลังของระบบริการสุขภาพเขตเมือง วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการจัดทำและจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมผู้อาศัยในเขตเมือง รวมทั้งพัฒนากลไกทางการเงินการคลังให้รองรับระบบการส่งต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกสิทธิ โดยหลังจากนี้จะมีการทบทวนและปรับปรุงระเบียบการเงินการคลังที่เกี่ยวข้อง
“เราทราบดีว่าทุกวันนี้มีระบบดูแลเรื่องการเงินการคลัง ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และระบบดูแลแรงงานต่างชาติ แต่กลับยังไม่มีระบบที่ดูแลแรงงานต่างชาติที่อยู่ในเขตเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้” นพ.ชวินทร์ กล่าว
3.การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการจัดทำฐานข้อมูล เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กร แต่ละสถานพยาบาล ไม่สามารถเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเป็นระบบเดียวกันได้ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการส่งต่อข้อมูล ซึ่งในต่างประเทศใช้เพียงเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ก็จะทราบข้อมูลการรักษาตัวของประชาชนรายนั้นๆ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเลือกใช้สถานบริการรัฐหรือเอกชน หรือคลินิกก็ตาม ฉะนั้นโจทย์คือจะต้องทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงการให้ได้
“ที่สำคัญคือต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำระบบรายงานสถานการณ์โรคต่างๆ หรือภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมหรือบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนในเขตเมืองต้องรายงานข้อมูลเหล่านี้ ฉะนั้นโรคบางโรคก็ไม่มีการรายงาน อัตราที่เกิดโรคก็ไม่ใช่อัตราที่แท้จริง เราจึงต้องมาจัดการกับระบบสารสนเทศต่อไป” นพ.ชวินทร์ กล่าว
4.การส่งเสริมวิจัยพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้หน่วยบริการเขตเมืองจัดบริการบนฐานความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการวิจัยจากงานประจำ หรือ Routine to Research) และพัฒนานวัตกรรมในการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตเมือง ซึ่งจะแตกต่างจากการดูแลในพื้นที่ชนบท
5.การอภิบาลระบบและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญ เนื่องจากในเมืองหลวงมีหน่วยบริการหลายสังกัด ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การอภิบาลระบบโดยภาพรวม คือมีซูเปอร์บอร์ดทำหน้าที่ดูแลและเชื่อมร้อยหัวหน้าขององค์กรหลักๆ ที่ดูแลระบบสุขภาพในเขตเมืองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกัน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้เอื้อต่อการให้บริการ
“เราต้องคุยกันทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการบูรณาการจริงๆ เช่น เคยคุยกับโรงพยาบาลเอกชน เขาก็บอกว่าภาครัฐก็บอกมาสิว่าจะให้ช่วยอะไรบ้าง เอกชนมีเตียงเหลือ ถ้าเราได้คุยกันก็อาจมีอีกมิติหนึ่งที่จะได้ทำงานร่วม อาจจะใช้เตียงของเอกชนที่มีอยู่มากมายมาใช้เป็นการให้บริการร่วม” นพ.ชวินทร์ กล่าว
อนึ่ง ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2558 มีฉันทามติเรื่องระบบสุขภาพเขตเมือง การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.มอบหมายให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และสนับสนุนให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
2.ขอให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพร่วมดำเนินการในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสร้างและพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง สร้างความตระหนักเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพทุกกลุ่มวัย เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
3.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันการศึกษา สนับสนุนการดำเนินงานการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง
4.ขอให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีการศึกษากลไกด้านการเงินการคลังสุขภาพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพเขตเมือง อย่างมีประสิทธิภาพและให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้รับบริการ
5.ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10
- 10 views