“หมอศักดิ์ชัย” ยก “กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่” มีท้องถิ่นร่วมหนุนสมัชชาสุขภาพ กระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาประเทศเดินมาถูกทาง ดึงท้องถิ่นมีส่วนร่วม กลไกเสริมระบบภาครัฐ พร้อม ช่วยสร้างระบบดูผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ
ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี – เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ในเวทีเสวนาเรื่อง “สานพลังภาคีเครือข่ายสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพเป็นเนื้อหาสำคัญ โดยเป็นเรื่องที่มาจากพื้นที่และจากความต้องการของประชาชน ผ่านการกลั่นกรองโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และจากมติสมัชชาสุขภาพที่ได้นี้ หากต่อเชื่อมดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่จะก่อให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
สำหรับในปีนี้มติสมัชชาสุขภาพมีด้วยกัน 4 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน การสร้างเสริมสุขภาพวะเด็กประถมวัย และการสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยต่างๆ ที่มีการนำเสนอในเวทีนี้ โดยมติที่ออกมาเหล่านี้ รวมถึงมติต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในช่วง 9 ปี ซึ่งการขับเคลื่อนได้ทำให้เกิดผลใน 3 เรื่อง คือ
1.ทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มซึ่งได้รับประโยชน์จาก อาทิ กลุ่มเด็กปฐมวัย ส่งผลให้มีการเพิ่มคุณภาพการดูแลพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
2. เพิ่มกำลังการแก้ไขปัญหาจากระบบปกติ โดยเฉพาะจากท้องถิ่นที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ปัญหา ใกล้ชิดกับพื้นที่ จึงมีศักยภาพในการแก้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยผ่านเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพ โดยที่ผ่านมา สปสช.ได้มีส่วนดำเนินการเพื่อให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง อาทิ กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งได้ขยายไปทั่วประเทศ โดยมีหลายพื้นที่ได้นำธรรนูญสุขภาพมาปรับดำเนินการ นับเป็นกลไกที่เพิ่มเติมและช่วยเสริมการดำเนินการให้กับภาครัฐได้
3. ระบบบริการ ปัจจุบันเรามีระบบบริการในเชิงโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ลักษณะสุขภาวะได้เปลี่ยนไป อาทิ การเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการดูแลใกล้ชิด ระบบสุขภาพชุมชนจึงมีบทบาทเข้ามารองรับ ไม่จำกัดเฉพาะการรักษา แต่รวมถึงการป้องกันโรคและฟื้นฟูสุขภาพ โดยท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน ที่เห็นชัดเจนคือ การจัดระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งในปี 2560 สปสช.ได้รับงบเพิ่มเติมจากรัฐบาลเป็น 900 ล้านบาท จากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 600 ล้านบาท ที่ก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมระบบดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับปัญหาในอนาคต
“จากการระดมความเห็นในเวทีสมัชชาสุขภาพถือเป็นธรรมนูญสุขภาพ โดยมติจากสมัชชาสุขภาพที่ได้นี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยมติ ครม. เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ ซึ่งเป็นความสำเร็จระยะยาว เพราะหน่วยงานต่างๆ ต้องรวมกันขับเคลื่อน เพียงแต่การดำเนินการจากนี้จะทำอย่างไรให้รวดเร็วเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้เวทีเสวนาเรื่อง “สานพลังภาคีเครือข่ายสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 นั้น มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเสวนาโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
- 3 views