“เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด” ไม่สนกำไรขาดทุน เดินหน้าพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล1 หวังเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบเพื่อให้บริการคนในพื้นที่ เน้นฟังเสียงประชาชน ชี้ท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนมากกว่าย่อมตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า
นายวัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ (กลาง)
นายวัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ทางเทศบาลได้พัฒนา “ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1” ให้เป็นหน่วยบริการที่มีคุณภาพที่ดำเนินงานโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นแห่งแรกในพื้นที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น (สปสช. เขต 7 ขอนแก่น) ทั้ง 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ ซึ่งหลังจากที่“ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1” ได้รับการประเมินให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลก็พัฒนาและปรับปรุงการให้บริการให้ตรงใจประชาชนมาโดยตลอด
“ศูนย์บริการฯ ให้ความสำคัญมากกับการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ เพราะเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนผู้มาใช้บริการจริง และเราได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการจาก สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เพื่อเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ในศูนย์ ทั้งนี้เนื่องจาก “ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1” เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ที่แยกออกมาจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้รับการจัดสรรให้ดูแลประชากรประมาณ 7,000 คน ในครั้งแรกเราได้ทราบว่าหากจะทำให้หน่วยบริการอยู่ได้ ไม่ขาดทุนจะต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน แต่เมื่อได้ประชากรมาเพียง 7,000 คน เราก็ต้องพยายามทำให้ประชากรกลุ่มนี้อยู่กับเราให้ได้มากที่สุด ดังนั้นทุกเสียงที่ส่งมาถึงเราจึงมีความสำคัญ เพื่อนำมาปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพการให้บริการ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า จากครั้งแรกที่กังวลกับระเบียบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ปีงบประมาณละ 4 ครั้ง จะทำให้ผู้มาลงทะเบียนกับศูนย์บริการฯ ลดลง แต่หลังจากให้บริการมานาน 1 ปี เราก็พบว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนเลือกศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1 เป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าผู้มาใช้บริการมีความพึงพอใจในการให้บริการ
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า จุดแข็งของท้องถิ่นในการจัดการด้านสาธารณสุข คือ อยู่ใกล้ชิดพื้นที่มากกว่า ทำให้รู้จักกับคนในพื้นที่มาก จึงสามารถนำความต้องการของคนในพื้นที่มาตอบสนองได้มากกว่า เนื่องจากมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการงบประมาณ ไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง โดยเทศบาลจะพัฒนาศูนย์บริการแห่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายการเป็นโรงพยาบาลที่สมบูรณ์ในอนาคต โดยมีแผนจะขยายศูนย์บริการฯ จากมีเพียงศูนย์เดียว เป็น 3 ศูนย์ โดยศูนย์ใหม่ที่จะขยายในปีต่อไปจะขยายไปที่ศูนย์เดิมของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ที่ศาลากลางจังหวัด (ศูนย์ กกต.)
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1 มีบุคลากรทั้งหมด 22 คน แบ่งเป็น แพทย์ประจำ 3 คน และแพทย์พาร์ทไทม์ 1 คน และพยายามเพิ่มบริการด้านสาธารณสุขให้มากขึ้น เช่น การให้บริการแพทย์แผนไทย ทันตกรรม นอกจากเรื่องคุณภาพบริการแล้ว ทางเทศบาลพยายามพัฒนาภูมิทัศน์ เช่น อาคาร ห้องน้ำ ลานจอดรถ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่งเมื่อตัดสินใจที่จะทำ เทศบาลก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องรองบประมาณจากที่อื่น เพราะทางเทศบาลมีงบประมาณของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นจุดแข็งที่สำคัญของทาง อปท.
นายฉัตรชัย นวลเพ็ญ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์บริการฯ พยายามที่จะเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาหลายปี แต่เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น ทางเทศบาลไม่ได้สนใจเรื่องกำไร ขาดทุน เพราะแม้จะเสี่ยงกับการไม่คุ้มทุนแต่เราก็จะทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ของเรา ในการเตรียมความพร้อมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสภาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินการ 3 ล้านบาท และในปีต่อมาก็สนับสนุนงบประมาณไม่น้อยกว่าเดิม โดยไม่ต้องรองบประมาณจาก สปสช.ที่จะสนับสนุนให้
“ทางเทศบาลได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ พยาบาล แพทย์ ผู้ให้บริการจากเดิมประมาณ 10 กว่าคน มาเป็น 22 คน ในปีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลน ทันตแพทย์ หรือทันตภิบาล และ นักกายภาพบำบัด แต่ในเรื่องของการบริการนั้นเราได้รับความกรุณาจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ดเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย ที่เกินกำลังความสามารถในการรักษาของศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล 1” นายฉัตรชัยกล่าว
- 209 views