“หมอโสภณ” คลอดเกณฑ์การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นระดับตำบลเพื่อดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง แก้ปัญหากองทุนฯ ไม่กล้าเบิกจ่าย ระบุชัด สร้างบุคลากรกรมอนามัยรับผิดชอบ จัดทำ Care Plan งบประมาณ สปสช. ส่วนกองทุนมีหน้าที่อนุมัติตามโครงการและใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ว่า ที่ผ่านมาพบปัญหากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นระดับตำบล หรือกองทุน Long Term Care ที่ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางไปแล้วกลับไม่กล้าเบิกจ่ายหรือไม่กล้าใช้เงิน เนื่องจากกองทุนไม่ทราบว่าจะใช้อย่างไร หรือใช้เป็นค่าอะไรได้บ้าง

สำหรับงบประมาณการดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 5,000 บาท โดย สธ.ได้ออกแบบการดำเนินงานออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 

1.สร้างบุคลากร โดยการอบรมเพื่อจัดเตรียมบุคลากรไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการนักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Manager: CM) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการระบบของทั้งตำบล และนักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ

2.จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan) เป็นรายบุคคลว่าแต่ละรายต้องดูแลหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง โดยเป็นหน้าที่ของ CM ในการลงพื้นที่สำรวจประชากรดูว่าทั้งตำบลมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวนเท่าใด จากนั้นจึงจะสามารถนำมาเขียนเป็น Care Plan ได้

3.แต่งตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่น ซึ่งมีผู้นำท้องถิ่น อาทิ นายกเทศมนตรี เป็นประธาน และมีทีม CM ปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นทีมเลขานุการ คือนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้คณะกรรมการพิจารณา เช่น มีผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงจำนวนเท่านี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างนี้ ต้องใช้งบประมาณจำนวนเท่านี้

“อย่างเช่นต้องซื้อวัสดุ ต้องทำแผล หรือแม้แต่ค่าแรงบุคลากร หรือCG ที่ลงไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นไปตาม Care Plan และจำเป็นต้องขอเงินจากกองทุนเพื่อดำเนินการ ซึ่งก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ในการอนุมัติ” นพ.โสภณ กล่าว

สำหรับขั้นตอนที่ 4 คือ การลงไปปฏิบัติหน้าที่จริง โดย สธ.ตั้งเป้าในการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงใน 2 ระดับ ได้แก่ 1.ต้องไม่ให้อาการแย่ลง คือจากผู้ป่วยติดบ้านก็จะต้องไม่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง 2.เพื่อให้อาการถอยกลับมาดีขึ้น คือจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง ก็ดูแลให้สามารถลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องกองทุนไม่สามารถเบิกจ่ายได้นั้น สธ.มีแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยเริ่มจาก 1.การอบรมบุคลากร จะใช้งบประมาณจากกรมอนามัย กล่าวคือกรมอนามัยจะเป็นผู้ของบประมาณให้ ขณะเดียวกันก็อาจมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น งบประมาณจากสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่ออบรม CG ให้มีปริมาณที่เพียงพอ

2.ตามโรงพยาบาลที่ CM ไปสำรวจเพื่อที่จะจัดทำเป็น Care Planนั้น ก็ให้ใช้เงินจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้แต่ละโรงพยาบาลแห่งละ 1 แสนบาท 

3.ในส่วนของเงินกองทุนตำบล เมื่อ CM นำ Care Plan ไปเสนอ แล้วคณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ก็ให้ทำเป็นรายโครงการ เช่น โครงการที่หนึ่งมีผู้ป่วยจำนวนเท่านี้ ต้องดูแลแบบนี้ ใช้งบประมาณเช่นนี้

“เราวางระบบให้ CM เป็นการทำงานแบบอาสาสมัคร ไม่ใช่จ้างงาน เพราะในชุมชนก็มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งก็เป็นอาสาสมัครเช่นกัน ฉะนั้นหากเราจ้างงาน CM ก็จะเกิดความแตกแยกขึ้นได้ หรือหากเอา CG ไปรับเงินเป็นรายวันก็จะเกิดคำถามยุ่งมาก ที่สำคัญก็คือจะไม่สามารถแบกรับภาระงบประมาณในอนาคตได้ ฉะนั้นหลักการคือเป็นอาสาสมัคร แต่เราก็จะให้ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ โดยกำหนดไว้ที่ 300 บาท ต่อ CG 1 คน ต่อเดือน ถ้าทั้งปีก็ 3,600 บาท ขณะที่เราได้เงินมาเฉลี่ยหัวละ 5,000 บาท นั่นก็หมายความว่ายังพอเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อีกประมาณ 1,400 บาท ต่อคน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ.ได้จัดทำระบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้จัดทำหนังสือเวียนทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นหลักการในการดำเนินการ คาดว่าจะเรียบร้อยและเริ่มดำเนินการได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

“เงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเป็นเงินขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฉะนั้นจะเอาไปโอนเข้าเงินบำรุงและใช้แบบทั่วไปไม่ได้ จึงต้องเขียนเป็นโครงการและใช้โดยมีเป้าหมายเฉพาะตามโครงการเท่านั้น ยกตัวอย่างคือในพื้นที่ไปขอเงินกองทุนตำบล ไม่ใช่ว่าไปขอมาแล้วโอนเข้าเงินบำรุงแล้วใช้ตามระเบียบเงินบำรุงได้เลย เพราะกฎหมายตีความว่านั่นไม่ใช่เงินของ สปสช. ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงให้ทำเป็นโครงการดีกว่า” นพ.โสภณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะท้องถิ่นกล้าตัดสินใจเบิกจ่ายเงินดูแลผู้สูงอายุ ชง สธ.-มท.คลอดเกณฑ์ที่ชัดเจน