‘ทันตแพทย์’ ยื่นหนังสือจี้สภาวิชาชีพเปิดเวทีแจงเหตุผลกำหนดบทลงโทษรุนแรง หากหมอฟันเก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องไม่ครบตามเกณฑ์มีโอกาสถูกถอนใบอนุญาต ด้าน “นายกทันตแพทย์สภา” ยอมรับข้อเสนอ-พร้อมให้คำตอบ ชี้ต้องดูเจตนารมณ์กฎหมาย

ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เดินทางเข้าพบ ­­­­ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 เพื่อยื่นหนังสือขอให้เปิดอภิปรายร่วมระหว่างสมาชิกและคณะกรรมการทันตแพทยสภา ภายหลัง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ ซึ่งกำหนดให้ทันตแพทย์ต้องต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี โดยการศึกษาต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อบังคับของทันตแพทยสภา โดยในข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษสำหรับทันตแพทย์ที่ทำคะแนนการศึกษาต่อเนื่องไม่ถึงเกณฑ์ไว้ตั้งแต่การพักใบอนุญาต ไปจนถึงการไม่ต่อใบอนุญาต

หนึ่งในตัวแทนที่เข้ายื่นหนังสือ เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ว่า ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาใบประกอบโรคศิลป์มายึดโยงกับการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทลงโทษที่ระบุไว้ว่าหากทันตแพทย์ไม่สามารถเก็บคะแนนได้ 100 คะแนน ภายในระยะเวลา 5 ปี ก็มีโอกาสถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สมเหตุสมผล

“การเก็บคะแนนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเข้าถึงกิจกรรมเพื่อให้ได้คะแนนนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เช่น ต้องมาประชุมเพื่อให้ได้คะแนน คำถามคือทันตแพทย์ที่อยู่ในเมืองกับอยู่ในต่างจังหวัดจะไม่ได้รับความเท่าเทียมกันใช่หรือไม่ ที่สำคัญคือบทลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตควรใช้ในกรณีที่มีการละเมิดจรรยาบรรณเท่านั้น ฉะนั้นจึงมายื่นหนังสือถึงท่านนายกทันตแพทยสภาเพื่อให้เปิดเวทีชี้แจงถึงที่ไปที่มาของข้อบังคับ” ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมรายนี้ ระบุ

ทันตแพทย์รายนี้ บอกอีกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้แพทย์ศึกษาต่อเนื่อง แต่ไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ เพราะเพียงแค่เก็บคะแนนไม่ครบกำหนดก็จะหมดสิทธิดูแลรักษาผู้ป่วย และที่ผ่านมาทันตแพทย์ทุกคนก็เรียนกันมาอย่างหนัก แต่ต้องมาสิ้นสุดวิชาชีพเพียงเพราะเก็บคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

อย่างไรก็ตาม ภายหลังยื่นหนังสือไปแล้ว นายกทันตแพทยสภาก็ยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอแนะ และรับปากว่าจะเปิดเวทีชี้แจงให้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการนัดวันเวลาแต่อย่างใด โดยนายกทันตแพทยสภาระบุว่าให้พิจารณาสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มต้องกลับไปศึกษาให้ละเอียดด้วยเช่นกัน

สำหรับสาระสำคัญตอนหนึ่งของหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะกำหนดให้วิชาชีพในสายงานสาธารณสุข อันประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ควรจะมีใบอนุญาตที่มีอายุ แต่ก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าการกำหนดอายุใบอนุญาตจะต้องไปผูกพันกับเงื่อนไขใด และโดยที่สายวิชาชีพแม้จะเป็นสายงานสาธารณสุขเช่นกัน แต่บริบทในการทำงานเพื่อประชาชนก็ยังมีความแตกต่างกัน จึงไม่ควรที่จะมีการดำเนินการในแบบแผนเดียวกันทั้งหมด  ซึ่งประเด็นนี้สภาวิชาชีพควรมีจุดยืนของตนเอง

“การที่ทันตแพทยสภาเลือกที่จะกำหนดการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยไปผูกพันกับการเก็บคะแนนสะสมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 นั้น เป็นเรื่องที่สมาชิกจำนวนมากไม่ทราบที่มา สมาชิกจึงมีความสงสัยในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการกำหนดอนาคตในการทำงานของสมาชิกอีกจำนวนมาก” หนังสือระบุ

หนังสือฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุอีกว่า การเก็บคะแนนการศึกษาต่อเนื่องที่ทันตแพทยสภาร่างขึ้นมา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเรียนรู้เพิ่มเติมของสมาชิกได้ เพราะเป้าหมายหลักคือการเร่งเก็บคะแนนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ต้องเรียนรู้จะสอดคล้องต่อการทำงานของแต่ละคนหรือไม่ เปิดโอกาสเอื้ออำนวยต่อบางองค์กรที่ใช้กฎหมายนี้แสวงหาผลประโยชน์ อาจเข้าข่ายการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย

“สมาชิกไม่มั่นใจต่อกระบวนการทำงานของทันตแพทยสภา เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางประการที่สมาชิกสงสัยได้ ในขณะที่การแถลงการณ์ของทันตแพทยสภาไม่สามารถให้ความกระจ่าง ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อวิชาชีพ ทั้งสมาชิกและองค์กรที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพด้วยเช่นกัน” หนังสือ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“หมอเจตน์” ยันไม่ 2 มาตรฐาน 'แพทย์-ทันตแพทย์' ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี

สภาเภสัชฯ เล็งแก้ข้อบังคับ เปิดช่องแสดงเจตนาขอพักใบอนุญาตชั่วคราว

ทันตแพทยสภาเลื่อนใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน

เลขาฯ เทคนิคการแพทย์ชี้ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปีเป็นกระแสสากล

อุปนายกสภาฯ พยาบาลแนะสร้างช่องทางเก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องให้ง่าย-หลากหลาย

แพทยสภาชี้ถ้า กม.วิชาชีพเวชกรรมมีผล หมอรุ่นเก่าไม่ศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้