ถึงเวลาติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะอย่างทั่วถึง เพื่อหยุดวิกฤตหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมฤตยูเงียบคร่าชีวิตคนไทย
ข่าวของ รังษี วงศ์ชัย พยาบาลจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พยาบาลสาวชาวไทยที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่สถานีรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถูกแชร์ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาพร้อมกับคำชื่นชมถึงแนวทางในการช่วยเหลือเบื้องต้นคือการทำ CPR พร้อมกับการใช้งานเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ลูกเรือ และ พญ.มนัสนันท์ คงวิบูลยวุฒิ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ร่วมโดยสารเครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งออกเดินทางจากประเทศไทย มุ่งหน้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความช่วยเหลือ ชายสูงอายุชาวไทย ที่หมดสติระหว่างการเดินทางด้วยการทำ CPR สลับกับการใช้เครื่อง AED กระตุ้นหัวใจไว้ได้ด้วยเช่นกัน
ความสำเร็จในการช่วยฟื้นคืนชีพทั้ง 2 ครั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มาจากความรู้เรื่องวิธีการทำ CPR ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และการมีเครื่อง AED เตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่ใช่ว่าความโชคดีนี้จะเกิดขึ้นในทุกครั้ง เพราะจากสถิติ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน เท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย แต่หากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือด้วยการ CPR ประกอบกับการใช้เครื่อง AED ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากตัวอย่างของ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเรียนรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR และการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันผลักดันให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา สพฉ.ได้ร่วมกับมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินญี่ปุ่น (Japan Emergency medical Foundation: JEMF) ตั้งคณะทำงานทำการวิจัยเพื่อพิจารณาแนวทางการติดตั้งและการใช้งานเครื่องAED อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประกาศใช้แนวทางดังกล่าวไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง สพฉ.ได้นำแนวทางและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับประเทศไทย
สำหรับสถานที่ติดตั้งเครื่องAED เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะพิจารณาจากสถานที่ที่ประชาชนโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ บนเครื่องบิน และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกล (รถไฟหรือเรือโดยสาร) ฟิตเนส เซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือ สนามกีฬาและการแข่งขันกีฬาจำนวนคนมากๆ รวมถึงสนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีคนมาใช้บริการประมาณ 5,000 คนต่อวัน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ศูนย์กลางชุมชน สถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อพาร์ตเมนท์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 50 คน โรงเรียน โดยเฉพาะสนามกีฬาของโรงเรียน บริษัท โรงงาน และสถานที่ให้บริการที่มีคนพลุกพล่าน สถานบันเทิง โรงแรมหรือศูนย์ประชุมขนาดใหญ่
รวมทั้งพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เกาะ หรือหุบเขาลึก และที่ผ่านมา สพฉ.ก็ได้กระจายการติดตั้งเครื่อง AED ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ หากแต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะมากถึง 600,000 เครื่องทั่วประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมาร่วมช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้
ทั้งนี้นอกจากการกระจายการติดตั้งเครื่อง AED ให้เพียงพอและทั่วถึงในพื้นที่สาธารณแล้วการเรียนรู้การใช้งานเครื่อง AED และการเรียนรู้การทำ CPR เพื่อช่วยในการฟื้นคืนชีพผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดีเพื่อให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดไปอ่าน โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดคู่มือไปอ่านและเรียนรู้การทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED ด้วยตนเองได้ได้ ที่นี่
นอกจากนี้เรายังได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอบสำหรับเด็กๆ ด้วย
“หากเราสามารถร่วมกันผลักดันให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและการเรียนรู้การใช้งานเครือง AED กับการทำ CPR ในเบื้องต้นก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ คุณภาพในการใช้ชีวิตของประชาชนในบ้านเมืองเราก็จะดีขึ้น โอกาสในการรอดชีวิตของประชาชนต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็จะรอดมากขึ้นนั่นเอง” เลขาธิการ สพฉ. กล่าวทิ้งท้าย
- 621 views