นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลแนะรักษาคนทำงานรุ่นใหม่ในองค์กรต้องสร้างความสุขสอดรับความต้องการด้านชีวิต ชี้แรงงานรุ่นใหม่คืออนาคตชาติที่สำคัญในอีก 20 ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่เมืองทองธานี ภายในงานประชุมระดับชาติหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ” หรือ “National Forum on Human Resources for Health 2017" มีการบรรยายเรื่อง คุณค่าในคนกับองค์กรแห่งความสุข การสร้างเสริมสุขภาวะคน และองค์กรของคนทำงานรุ่นใหม่ โดยมีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย รศ.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิตย์ ผศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และ ผศ.จรัมพร โห้ลำยอง
รศ.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิตย์ กล่าวบรรยายว่า คนที่มีคุณภาพสะท้อนได้จากคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข และสะท้อนไปยังองค์กรที่ทำงานด้วยเช่นกัน แต่ขณะนี้เรามีการเน้นไปที่นวัตกรรม หรือที่เรียกกันว่าประเทศไทย 4.0 ประการแรกต้องเข้าใจเข้าถึงและรู้เท่าทันกับนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมคนจะไปคิดถึงแต่ด้านเทคโนโลยี แต่หากมองไปที่คำว่าคนพันธุ์ใหม่ หรือคนสมาร์ท ที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่เพื่อกลายเป็นนวัตกรรม เพราะคือสิ่งใหม่ที่ทำได้จริง นำไปสู่การพัฒนา ก็คือนวัตกรรมเช่นกัน ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะด้านเทคโนโลยี แต่การจัดการการทำงานให้มีความสุขที่เป็นรูปธรรม ก็คือนวัตกรรมเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะติดหล่มกับคำว่านวัตกรรมที่มุ่งไปในด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
รศ.ศิรินันท์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจะต้องสะท้อนไปถึงแนวคิดที่เริ่มจากตัวเรา และคนพันธุ์ใหม่ก็ไม่เกี่ยวกับเจนของอายุ แต่เน้นไปที่ด้านความคิด พฤติกรรมและการสร้างตัวตนให้สมาร์ทขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การสร้างความสุขคนจะไปคิดถึงด้านคุณภาพที่สร้างความสุขให้ แต่โลกในยุคปัจจุบันมีองค์ประกอบมากมาย คำถามคือเราจะทำอย่างไรสำหรับคนทำงานเพื่อให้ตัวเราเองนั้นเป็นคนที่สร้างความสุขขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมวัดความสุขด้านสังคมศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกด้านด้วย ซึ่งสามารถวัดค่าความสุขของคนทำงานในองค์กรได้ โดยต้นแบบของโจทย์คือ ทุกคนในองค์กรสามารถเป็นผู้นำในแนวคิดและยุทธศาสตร์สำหรับตนเองเพื่อสร้างความสุขได้ และนำไปสู่กระบวนการที่ใช้ได้ง่ายและเห็นผลได้อย่างทันที โดยกระบวนการสร้างสุขจะเน้นไปที่ความพึงพอใจและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างคุณค่าของคนขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ความต้องการเกี่ยวกับชีวิตทำงานของมนุษย์ก็ไม่อยู่ไม่กี่เรื่อง อาทิ การมีโอกาสและรายได้ การมีสิทธิ์ในด้านต่างๆ การได้แสดงออก การได้รับการยอมรับ ความมั่นคงของครอบครัว เป็นต้น แต่ข้อแตกต่างคือคนทำงานในภาครัฐอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในสิทธิ์ของตนเองมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานที่อยู่ในรูปแบบเดิม คือจากบนลงล่าง และไม่มีการสะท้อนความต้องการของผู้ปฏิบัติมากเท่าใด ดังนั้น หากเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้ทำงานทั้งระบบเพื่อสร้างความสุขใหักับตนเองได้ ก็จะสะท้อนไปถึงองค์กรที่จะดีตามด้วยเช่นกัน
ด้าน ผศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ กล่าวเสริมว่า คนทำงานรุ่นใหม่ หรือคนไทยในที่ทำงานที่เป็นรุ่น GEN Y ถือเป็นกำลังหลักทั้งในปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่คนในรุ่นนี้จะมาพร้อมกับเหตุผลในทุกๆ เรื่อง เพราะบริบทของเมืองและการเติบโตที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การทำงานร่วมกันกับคนกลุ่มนี้ ในระดับหัวหน้าก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารเพื่อให้สอดรับกับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ด้วย
“คน GEN Y อยู่ในยุคก้าวกระโดดและพร้อมจะติดตามทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน GEN Y ในสถานที่ทำงาน จะมีข้อกังวลขององค์กร คือ เด็กรุ่นใหม่เก่ง ฉลาด ทำงานได้หลายอย่าง แต่ไม่อดทนไม่สู้งาน และเปลี่ยนงานบ่อย และเป็นโจทย์หลักขององค์กรที่จะทำอย่างไรเพื่อจะรักษาคนทำงานที่เก่งให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ ได้”
ผศ.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า คน GEN Y จะเน้นไปในทิศทางของการสร้างสมดุลชีวิต ไม่ใช่งานมาก่อนชีวิตแน่นอน และปัจจัยที่จะทำให้คน GEN Y หรือกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี อยู่กับองค์กรได้คือความพึงพอใจของการทำงานที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการส่วนบุคคลได้ เป็นต้น
“กลุ่ม GEN Y ยิ่งอยู่ในองค์กรนานยิ่งมีความคิดที่จะออกจากงานมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังสามารถแสวงหาโอกาสต่างๆ ได้ การรักษาคนทำงานรุ่นใหม่คือต้องสร้างให้เกิดความรู้สึกว่างานและชีวิตครอบครัวสามารถไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี” ผศ.เฉลิมพล กล่าว
ขณะที่ ผศ.จรัมพร โห้ลำยอง กล่าวเช่นกันว่า ทุกองค์กรคงไม่อยากให้คนเก่งๆ ต้องออกไป การสร้างความยั่งยืนคือการเก็บคนเก่งเอาไว้มาทำงาน แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าจะมีรายได้สูงแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อคนทำงานไม่มีความสุขก็พร้อมที่จะออกไปเช่นกัน ดังนั้น การสร้างองค์กรให้มีความสุขจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับในยุคปัจจุบัน
“เพื่อสานต่อเส้นทางของความยั่งยืนในองค์กร จึงจำเป็นจะต้องสร้างความสุขร่วมกันของคนทำงานในทุกระดับ” ผศ.จรัมพร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความสุขในองค์กร คือ 1.การทำงานเป็นทีม 2.ความพร้อมทั้งกาย ใจ ปัญหา และ 3.สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความสุขขึ้นมา ขณะเดียวกันผู้สร้างความสุขก็คือทุกคนในองค์กรที่ต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา เช่น อุปกรณ์การทำงาน บรรยากาศ เป็นต้น
ผศ.จรัมพร กล่าวอีกว่า การสร้างสุขอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีนโยบายที่ดีและมุ่งเน้นความร่วมใจ รวมถึงปรับกิจกรรมร่วมกันให้เกิดความเหมาะสม บางองค์กรจะมีนักสร้างสุข ซึ่งก็คือฝ่ายบุคคล หรือ HR ที่จะต้องเป็นแม่งานหลักในการสร้างความสุขใหักับตัวเอง และส่งต่อความสุขในการทำงานให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายเกียวกับศาสตร์ด้านการสร้างความสุข ซึ่งเป็นการอบรมให้กับนักศึกษารวม 25 เครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อนำความรู้ในการอบรมนี้ไปต่อยอดได้ในที่ทำงานแต่ละองค์กรที่นักศึกษาจะได้ไปทำงานต่อ
“การทำงานสร้างสุขของฝ่ายบุคคล หรือ HR เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ยั่งยืน จึงจำเป็นจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ของการสร้างสุขไว้กับคนรุ่นต่อไปด้วย” ผศ.จรัมพร กล่าว
- 36 views