กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากร การพัฒนาสมรรถนะและเพิ่มพูนทักษะแก่บุคลากรสาธารณสุข ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและชะลอการเกิดผู้ป่วยรายใหม่
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ที่ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถนะและเพิ่มพูนทักษะการดำเนินงานโรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โดยมีบุคลากรสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมจำนวน 500 คน
นพ.โสภณ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกมีรายงานว่า ทุกปีทั่วโลกจะพบการเสียชีวิตของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 36 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าอัตราตายเท่ากับ 28.92 ต่อประชากรแสนคน หรือเท่ากับ 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน ส่วนหลอดเลือดสมองมีอัตราตายสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปี 57 มีจำนวนตาย 25,114 คน หรือเฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3 คน
นอกจากนั้นยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายประมาณ 200,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปีละกว่า 7,800 ราย ซึ่งจะตรวจพบเมื่อโรคเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยรัฐต้องใช้งบประมาณในการล้างไตสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดหัวใจ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท จากสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงก่อให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นวัยทำงานและยังเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2559 ในการจัดการโรคไตเรื้อรังและลดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยกำหนดเป็นมาตรการ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เช่น การเฝ้าระวัง ติดตาม คัดกรองโรคและลดพฤติกรรมเสี่ยง สร้างความตระหนักในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เสริมสร้างสิ่งแวดล้อม ลดเสี่ยงในชุมชน ให้คำปรึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาคุณภาพบริการ เสริมสร้างศักยภาพบุคลากร กำกับ ติดตาม ประเมินผล มีระบบสารสนเทศสำหรับการดำเนินงาน แต่จากการประเมินการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า บุคลากรในการดำเนินงานยังขาดความรู้เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย
ดังนั้น ในปี 60 กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ สามารถนำความรู้ ความเข้าใจทั้งในเรื่องของนโยบาย ประเด็น เทคนิค และ วิธีการ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ไปถ่ายทอดให้กับทีมสหวิชาชีพในเขตสุขภาพของตน พัฒนาสมรรถนะในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและชะลอการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ ลดภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
- 186 views