เลขา สปส.กางแผนลงทุนกองทุน 1.6 ล้านล้านบาท ระบุ เกลี่ยงบ 1 แสนล้าน ลงทุนตลาดต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยง ยืนยัน นำผลตอบแทนมาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า แม้ว่ากองทุน สปส.จะมีความมั่นคง ก็คงไม่มีประโยชน์หากประชาชนในระบบ สปส.ซึ่งก็คือผู้ประกันตนไม่มีความมั่นคงในชีวิต นั่นเพราะเป้าหมายของกองทุนคือสร้างความมั่นคงเพื่อดูแลประชาชน ฉะนั้นจากนี้ก็จะพัฒนาเรื่องความเพียงพอของทรัพยากร งบประมาณ และการเข้าถึงบริการของผู้ประกันตนต่อไป
“นั่นหมายความว่าหากตรงไหนไม่เพียงพอเราก็ต้องเพิ่ม หากสิทธิประโยชน์ที่ให้ไปมีไม่พอก็ต้องปรับเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณก็ต้องเพิ่มด้วยเช่นกัน และส่งผลในระยะยาวด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องกลับไปดูว่าจะสร้างสมดุลได้อย่างไรในอนาคต แต่ไม่ใช่ว่าจะจำกัดสิทธิหรือไม่เพิ่มสิทธิให้ประชาชน นั่นทำไม่ได้ และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน” นพ.สุรเดช กล่าว
อย่างก็ตาม สปส.จำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาดูแลประชาชน โดยขณะนี้มีการปรับปรุงนโยบายการลงทุนโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว คาดว่าในภาพรวมกองทุนจะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงลดต่ำลง
“ตามหลักการลดความเสี่ยงทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่ควรนำไข่ไปใส่ไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว เพราะหากประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจภายในเงินที่อยู่เฉพาะในประเทศไทยที่เดียว จะได้รับผลกระทบไปด้วย" นพ.สุรเดช กล่าว
สำหรับแผนการลงทุน สปส.จะนำเงินไปลงทุนไปในตลาดต่างประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท จากจำนวนเงินทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท โดยจะมีคณะกรรมการจากผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นักวิชาการอิสระ รวมถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบลงทุนขนาดใหญ่ ช่วยดูแลนโยบายลงทุนบริหารความเสี่ยงให้สมดุล
“ตามแผนการลงทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศกับในประเทศถึงปี 2561 สัดส่วนที่นำไปลงทุนในต่างประเทศอยู่ในมูลค่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากหากเทียบกับสัดส่วนของกองทุนทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท ตรงนี้เสมือนเป็นกรอบแต่เมื่อไปลงทุนจริงต้องศึกษาดูความเสี่ยงในการลงทุนควบคู่กันไปด้วย” นพ.สุรเดช กล่าว
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าเงินในกองทุนประกันสังคมไม่หมด และมีเพียงพอต่อการจ่ายบำนาญชราภาพอย่างแน่นอน ผู้ประกันตนจึงไม่ต้องกังวล
- 2 views