ถอดสถิติพนักงานทั่วโลกใน 142 ประเทศ “ทำงานไปวันๆ” องค์กรระดับ World Class มีสัดส่วนพนักงานที่ “ผูกพัน” กับองค์กร มากกว่าองค์กรทั่วไปถึง 10 เท่า ด้านโรงพยาบาลหาดใหญ่เปิดสูตร Engaged พนักงานด้วยสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 การประชุมระดับชาติ “National Forum on Human Resources for Health 2017: การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยห้อง Sapphire 202 ได้จัดวงพูดคุยในหัวข้อ “Employee Engagement” ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าฟังจำนวนมาก
ดร.ปาหนัน กนกวงศ์นุวัฒน์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวถึง Employee engagement ว่า เป็นการวัดความผูกพันหรือความรู้สึกของบุคลากรต่อองค์กรว่าเขามีความสุขที่ได้ทำงาน มีความภูมิใจต่อองค์กร และงานที่ทำมีคุณค่าพร้อมที่จะทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้อย่างสุดความสามารถ โดยการวัดความพึงพอใจ (Employee satisfaction) นั้น แม้ว่ามีความสำคัญ แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับ Employee engagement เสมอไป
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างความพึงพอใจ (Satisfaction) กับความผูกพัน-ความร่วมมือ (Engagement) จะพบว่า ความพึงพอใจจะอยู่ในระดับความชอบ ทัศนคติเกิดอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ขณะที่ความผูกพันจะอยู่ในระดับความจงรักภักดี ทัศนคติพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ แต่จะเปลี่ยนแปลงได้ยาก
ดร.ปาหนัน กล่าวว่า สามารถสังเกตพนักงานได้ว่ามีความผูกพันกับองค์กรหรือไม่ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วพนักงานที่มีความผูกพันกับองค์กรจะมีอัตราการขาดงาน การมาสาย การลางานต่ำ เข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ ตั้งใจทำงานโดยทำวันนี้ให้ดีที่สุด เสนอตัวเพื่อรับงานใหม่ อยากทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ใช้ทรัพยากรขององค์กรโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า พูดถึงบริษัทในทางสร้างสรรค์ และอยากเห็นบริษัทเติบโต
ขณะที่พนักงานที่ไม่มีความผูกพันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คืออัตราการขาดงาน การมาสาย การลางานสูง หลบหลีกการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำงานไปวันๆ ทำเฉพาะงานตนเอง ไม่สนใจต่อเป้าหมายของหน่วยงาน ใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า พูดถึงบริษัทในทางที่ไม่สร้างสรรค์ และอยากลาออกไปหางานใหม่
ดร.ปาหนัน กล่าวว่า ในการประเมิน Engagement ของทั่วโลก มักใช้เครื่องมือของ Gallup ซึ่งเป็นการตอบแบบสอบถาม 12 ข้อ เพื่อแบ่งคนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กร (Engaged) คือทำงานด้วยความเต็มใจ ตั้งใจ มีส่วนร่วม คำนึงถึงเป้าหมายองค์กร 2.พนักงานที่ไม่ยึดติด (Not-engaged) คือไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ทำไปวันๆ 3.พนักงานที่ไม่ผูกพัน (Actively disengaged) คือพนักงานที่ไม่มีความสุขในการทำงาน พูดให้องค์กรเสียหาย ทัศนคติลบ
“ปี 2552-2555 มีการสำรวจพนักงานอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วโลกใน 142 ประเทศ พบว่าพนักงานส่วนใหญ่อยู่ไปวันๆ ขณะที่อยู่ในกลุ่ม Engaged มีเพียง 11-13% เท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาในองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในระดับ World Class จะพบว่ามีสัดส่วนพนักงาน Engaged เป็น 10 เท่า ขององค์กรทั่วๆ ไป” ดร.ปาหนัน กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรระดับ World Class จะมีกลุ่ม Engaged 67% ขณะที่องค์กรทั่วๆ ไปมีประมาณ 33% ส่วนกลุ่ม Not-engaged หรืออยู่ไปวันๆ นั้น มีสัดส่วน 26% ต่อ 49% และกลุ่มต่อต้านองค์กร หรือ Actively disengaged มีสัดส่วน 7% ต่อ 18%
สำหรับประเทศไทย มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินพนักงาน โดยแบ่งออกเป็น ความอยู่ดีมีสุข ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และความทุ่มเทกายใจที่จะทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่ โดยเป็นแบบประเมิน 51 ข้อ และเปิดให้แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ควรปรับปรุง
ดร.ปาหนัน กล่าวอีกว่า ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาประเมินโรงพยาบาลศูนย์พระปกเกล้าในปี 2559 โดยสำรวจบุคลากร 1,409 คน จากทั้งหมด 2,400 คน พบว่ามีผู้ที่ Engaged 56.35% ขณะที่ผู้ที่อยู่ไปวันๆ 42.16% และผู้ที่ต่อต้านองค์กร 1.49% โดยกลุ่มที่อยู่ดีมีสุขและมีความรู้สึกทุ่มเทกายใจในการทำงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแพทย์ เมื่อทราบข้อมูลแล้วก็นำไปวิเคราะห์และพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์คนกลุ่มอื่นๆ ด้วย
น.ส.บุญจิ้ม ไชยศรียา โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า ตัวอย่างของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ 70% ทำงานอย่างมีความสุข เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ หลายคนจึงใฝ่ฝันอยากเข้ามาทำงาน โดยสิ่งที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ทำเพื่อจะ Engaged พนักงาน คือการให้สวัสดิการพนักงาน ได้แก่
1.หากพนักงานเจ็บป่วยต้อง แอดมิดจะให้สิทธิรักษาฟรีทั้งหมดรวมถึงค่าห้องพิเศษ ส่วนญาติพนักงานหากป่วยก็จะพิจารณาให้ห้องพิเศษก่อน
2.เพิ่มวันลาของพนักงาน โดยให้สิทธิลากิจได้ 5 วันโดยไม่ตัดเงินเดือน ซึ่งโรงพยาบาลอื่นๆ จะไม่มี
3.เปิดโอกาสให้ลาศึกษาต่อ และสนับสนุนให้พนักงานเข้าฝึกอบรมอย่างเต็มที่
4.ให้ความรู้แก่พนักงานประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่เข้ามาใหม่ๆ เพื่อให้ทราบสิทธิของตัวเอง
5.ให้รางวัลแก่ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานจนถึงเกษียณเทียบเท่ากับพนักงานประจำ
- 66 views