เครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเก่า ร่วมกันระดมความเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อ ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 วันที่ 21- 23 ธันวาคมนี้
อยุธยาเป็นอีกหนึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้งประเทศ ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะครั้งนี้ นำเสนอต่อการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ในวันที่ 21- 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างเอกสารประกอบการประชุมตามระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ห้องประชุมวัดท่าการร้อง ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)โดยนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติฯ ได้นำเสนอถึงภาพรวมและความสำคัญของพลังเครือข่ายสมัชชาในแต่ละพื้นที่ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือและกระบวนการ พร้อมกับการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนประเด็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากพื้นที่ของตนสู่ระดับชาติแล้วหมุนวนกลับมาขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับชาติด้วย เพราะความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพในแต่ละพื้นที่จะถูกรวบรวมและนำเสนอโดยผู้แทนของจังหวัดไปยังที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาและหาฉันทามติร่วมกันของสมาชิก ซึ่งสุดท้ายจะออกมาในรูปของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับเวทีที่จัดขึ้นในระดับพื้นที่จังหวัดนั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการทำความเข้าใจในสาระเอกสาร ให้ความคิดเห็น ต่อร่างระเบียบว่าระซึ่งมีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 4 ประเด็น/ระเบียบวาระ คือ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ตลอดจนการเตรียมผู้แทนของจังหวัดที่จะนำเสนอรายประเด็น/ ระเบียบวาระ ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ยังได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อนในระยะต่อไปต่อที่ประชุม โดยเชิญชวนให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ พัฒนากลไกหรือคณะทำงานในแต่ละประเด็น ตลอดจนการจัดทำแผนงาน/ โครงการในจังหวัดของตน และประกาศเป็นวาระร่วมของท้องถิ่นหรือในระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดพลังร่วมในการพัฒนามากยิ่งขึ้น และหากเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นที่ขับเคลื่อนในประเด็นเดียวกันก็สามารถนำสนอเป็นประเด็นประเด็นนโยบายของเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อไปได้อีก
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ อยากให้ผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด โดยเราสามารถทำเป็นแผนที่กลไกทางสังคม (Social maping) ขับเคลื่อนทั้งจังหวัด เช่น ผลักดันให้เป็นวาระร่วมกันของทั้งจังหวัด จะเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนในวงกว้างที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอที่ได้จากเวทีท้องถิ่นและระดับชาติเชื่อมโยงกันและถูกนำไปใช้ประโยชน์ สุดท้ายกระบวนการนโยบายสาธารณะฯ นี้ ก็จะเกิดผลในขั้นปลายอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป”
- 7 views