ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันว่านโยบายด้านสุขภาพนั้น รัฐมีนโยบายให้การบริการสุขภาพครอบคลุมประชากรทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในส่วนบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติหรือประชากรต่างด้าวนั้นดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยอยู่ภายใต้การประกันสุขภาพ 2 ระบบคือ 1.ระบบประกันสังคม บริหารจัดการโดยสำนักงานประกันสังคม และ 2.กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว บริหารจัดการโดยกลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการสุขภาพครอบคลุมทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี รักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการเฝ้าระวังโรค ซึ่งทั้ง 2 ระบบถูกกำหนดให้ดูแลประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันรวมถึงการบริหารจัดการกองทุนที่แตกต่างกัน
จากการศึกษาของ ขนิษฐา ภูสีมุงคุณ เรื่อง “การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” พบว่าการบริหารจัดการกองทุนแต่ละระบบมีการพัฒนาแบบแยกส่วน ถึงแม้จะมีผู้แทนของแต่ละหน่วยงานร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรอบแนวคิดของแต่ละกองทุน รูปแบบองค์กร การบริหารกองทุน กฎหมายและระเบียบที่รองรับ รูปแบบการประกันสุขภาพ โดยสามารถสรุปลักษณะการบริหารกองทุนของแต่ละระบบ ดังนี้
ระบบประกันสังคม เป็นระบบกองทุนที่เน้นความมั่นคงของกองทุนเป็นหลัก มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน บริหารกองทุนโดยคณะกรรมการประกันสังคม มีสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคม ได้แก่ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533, พ.ร.บ.เงินทดแทน 2537, แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537, พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558
สำหรับลักษณะการประกันเป็นแบบบังคับโดยภาครัฐให้การสนับสนุน มีแหล่งงบประมาณจาก 3 ส่วน คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ส่วนวิธีจ่ายค่าบริการนั้น จ่ายโดยเหมาจ่าย+จ่ายตามรายกิจกรรมในบางรายการ+จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม กรณี adjRW มากกว่าหรือเท่ากับ 2 โดยมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญา และสถานพยาบาลในเครือข่ายเป็นหน่วยให้บริการ
กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว เป็นระบบกองทุนที่เน้นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน และความมั่นคงทางสาธารณสุข มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข บริหารกองทุนโดยคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว บริหารจัดการโดยกลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการภายใต้มติคณะรัฐมนตรี และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับลักษณะการประกันเป็นแบบภาคบังคับ มีแหล่งงบประมาณมาจากผู้ประกันตนเอง ส่วนวิธีจ่ายค่าบริการนั้น จ่ายโดยเหมาจ่าย+จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม โดยมีโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานพยาบาลอื่นที่เข้าร่วมโครงการ (เป็นหน่วยบริการคู่สัญญาหลักที่เข้าร่วมกับระบบบัตรทอง) เป็นหน่วยให้บริการ
ในขณะที่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือระบบบัตรทอง นั้น พบว่าเป็นระบบที่เน้นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานและการบริการ มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บริหารกองทุนโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545
สำหรับลักษณะการประกันเป็นแบบรัฐสวัสดิการ มีแหล่งงบประมาณมาจากรัฐบาล ส่วนวิธีจ่ายค่าบริการนั้น จ่ายโดยเหมาจ่าย+จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม มีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญา และสถานพยาบาลในเครือข่ายเป็นหน่วยให้บริการ
ตอนต่อไปติดตาม เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เรียบเรียงจาก ขนิษฐา ภูสีมุงคุณ. (ร่างรายงาน)“การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” ส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ โครงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ, มิถุนายน 2559.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทย
ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย
- 93 views