ปัญหาระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยใน 31 จังหวัดชายแดน พบว่าเกือบทั้งหมดเมื่อเจ็บป่วยจะไปรับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐตามแนวชายแดน ซึ่งบางส่วนไม่มีหลักประกันสุขภาพจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาได้ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากแรงงานข้ามชาติส่งผลให้ภาระการเงินของโรงพยาบาลติดลบ
สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเป็นมูลเหตุสำคัญที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการศึกษา สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว ใน 31 จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ 2558 เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาระการเงินของโรงพยาบาล ใน 31 จังหวัดชายแดน อันประกอบด้วยข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้แก่
1. ขอรับการจัดสรรงบประมาณชดเชยภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลใน 31 จังหวัดชายแดน จากงบประมาณกลางรายการค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือจำเป็น เป็นรายปี
2. การจัดสรรงบประมาณควรใช้เกณฑ์การเป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับโรงพยาบาลที่อยู่ตามชายแดนที่มีจำนวนต่อหัวของประชากรน้อยในพื้นที่ แต่มีภาระของการให้บริการสุขภาพมาก เนื่องจากมีผู้ป่วยต่างด้าวเข้ามาใช้บริการมาก
3. ขยายความครอบคลุมการมีบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวเชิงรุกให้แก่คนต่างด้าว โดยใช้กลไกผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นหน่วยบริการดูแลประชาชนในพื้นที่
4. พัฒนาระบบฐานข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยต่างด้าว ได้แก่ การนำระบบ Bio Data มาใช้เพื่อยืนยันผู้ป่วยต่างด้าวให้ชัดเจนและเชื่อมโยงได้ระหว่างสถานพยาบาล การพัฒนาฐานข้อมูลการให้บริการของผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติก่อนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้มาขึ้นทะเบียนและขอมีบัตรประกันสุขภาพอันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาสุขภาพประชากรต่างด้าว
5. พัฒนาระบบฐานข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าวตั้งแต่การออกแบบรายงานเพื่อเก็บข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และวิธีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปจนถึงระดับจังหวัดที่เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนแก้ไขปัญหาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าวในระดับประเทศและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้แก่
1. ศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณในการให้บริการสุขภาพผู้ป่วยต่างชาติด้วยระบบบังคับซื้อบัตรประกันสุขภาพสาหรับคนต่างด้าวที่เข้าประเทศไทย
2. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณประจำปีในรูปแบบกองทุน โดยจัดตั้งกองทุนควบคุมโรคสำหรับประชาชนข้ามชาติให้กับหน่วยบริการที่ต้องดูแลประชากรข้ามชาติที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณเท่ากับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว หมวดสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่รวมเงินเดือน และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ
3. ควรมีงบกลางสนับสนุนร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยต่างชาติที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ
4. การพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านให้สามารถดูแลประชาชนของตนเองได้ อันจะเป็นการช่วยควบคุมโรคตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพ
5. ประสานร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ด่านศุลกากร (กระทรวงการคลัง) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (กระทรวงสาธารณสุข) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรวมถึงเหล่าทัพ กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเข้าเมืองของคนต่างชาติ รวมถึงทราบถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศอย่างเป็นระบบ และพัฒนาให้มีระบบการติดตามตั้งแต่เข้า – ออก อย่างเป็นระบบ Single Window ของประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลร่วมกันได้
ตอนต่อไปติดตาม การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทย
ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย
การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
รูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เรียบเรียงจาก
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว ใน 31 จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ 2558. กระทรวงสาธารณสุข, 2559.
- 22 views