รายงานการศึกษาเรื่อง “สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว ใน 31 จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ 2558” ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ (ดู ที่นี่) จากการศึกษาในปีงบประมาณ 2558 ประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนมารับบริการ 1,111,079 คน/2,121,771 ครั้ง
โดยโรคที่ป่วยมากที่สุดใน 5 ลำดับแรก ส่วนใหญ่เป็นโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคระบบหายใจ รองลงมาเป็นโรคระบบย่อยอาหาร โรคระบบกล้ามเนื้อ โรคติดเชื้อและปรสิต และโรคระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ เป็นไปเพื่อการรักษาพยาบาลมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ
ทั้งนี้ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติ ได้แก่
ภาระทางการเงินของโรงพยาบาล กล่าวคือ การขาดทุนของโรงพยาบาลชายแดนบางส่วนแม้ว่ายังจะเป็นที่ถกเถียงถึงสาเหตุการเกิดปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาล แต่การรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากประชากรข้ามชาตินับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดนบางส่วนขาดทุน และเป็นภาระทางการเงินของโรงพยาบาลเช่นกัน
จากรายงานสถานการณ์ทางการเงินของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในไตรมาสที่ 4/2558 พบว่า จังหวัดชายแดน 31 จังหวัด มีโรงพยาบาลชายแดนรวม 54 แห่ง ใน 23 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของโรงพยาบาลทั้งหมดใน 31 จังหวัดชายแดน (373 แห่ง) มีปัญหาวิกฤตทางการเงินระดับ 7 คือ ติดลบ 407,404,713 บาท
โดยจังหวัดชายแดนไทย – เมียนมา ติดลบมากที่สุด คือ ติดลบ 200,947,480.99 บาท
รองลงมาเป็นจังหวัดชายแดนไทย – สปป.ลาว ติดลบ 153,664,400.64 บาท
จังหวัดชายแดนไทย – มาเลเซียติดลบ 42,272,677.51
และจังหวัดชายแดนไทย – เขมร ติดลบน้อยที่สุด 10,520,153.86 บาท
ขณะที่มีจังหวัดชายแดน 8 จังหวัด ไม่มีวิกฤติทางการเงินระดับ 7 ได้แก่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ระนอง อุตรดิตถ์ นราธิวาส ตราด บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
ภาระการให้บริการสุขภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มขึ้น กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรข้ามชาติทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้แรงงานในไทย และประชากรข้ามชาติที่ข้ามเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลชายแดน ทำให้เพิ่มภาระการให้บริการสุขภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีภาระมากน้อยแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น ปัจจัยด้านความลำบากในการเดินทางข้ามด่านเพื่อมาทำงาน ปัจจัยด้านศักยภาพ และคุณภาพบริการของสถานบริการสุขภาพในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยด้านที่ตั้งของพื้นที่ชายแดน และปัจจัยด้านความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันยาวนาน
การแบ่งทรัพยากรสาธารณสุขไทยไปดูแลประชากรข้ามชาติ กล่าวคือ จากปัญหาสาธารณสุขของประชากรข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติ มีมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยข้ามชาติเข้ามาแย่งใช้ทรัพยากรที่จัดไว้ให้กับคนไทย ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาสุขภาพคนไทยทั้งด้านการเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและการควบคุมป้องกันโรค และโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อย่างกรณีที่มีการระบาดของโรคคอตีบในฝั่ง สปป.ลาว ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรไทย และจำเป็นต้องมีงบประมาณเข้ามาในระบบเพื่อการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติโดยเฉพาะ
การแพร่กระจายของโรคติดต่อจากแรงงานข้ามชาติ กล่าวคือ แรงงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีจำนวนน้อยกว่าที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่อาศัยอย่างแออัด สิ่งแวดล้อมเน่าเสีย มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่งผลให้มีการแพร่กระจายของโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากรายงานผู้ป่วยและตายที่เป็นประชากรข้ามชาติด้วยโรคติดต่อที่สาคัญในปีงบประมาณ 2558 เรียงตามลำดับโรค ได้แก่ อุจจาระร่วงมีผู้ป่วยถึง 438,431 ราย ตาย 2 ราย รองลงมาไข้เลือดออก มีผู้ป่วย 48,025 ราย ตาย 63 ราย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีผู้ป่วย 18,159 ราย โรคมือ เท้า ปาก มีผู้ป่วย 15,372 ราย ตาย 1 ราย โรคมาเลเรียมีผู้ป่วย 2,344 ราย และโรควัณโรค มีผู้ป่วย 1,435 ราย
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติเหล่านี้ นับว่าเป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ 31 จังหวัดชายแดนไทย
ตอนต่อไปติดตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทย
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย
การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
- 199 views