การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา แต่จากการขาดมาตรการรองรับที่ดีและการบังคับใช้กฎหมายที่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาสาธารณสุข อาทิ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และสถานบริการสาธารณสุขของรัฐต้องจัดบริการรองรับแก่แรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น สำนักข่าว Hfocus จะนำเสนอสถานการณ์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การจัดระบบรองรับตามหลักสิทธิมนุษยชน
จากรายงานการศึกษาเรื่อง “สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว ใน 31 จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ 2558” ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ
ประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดน เฉพาะข้อมูลแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ที่ได้รับอนุญาตทำงานใน 31 จังหวัดชายแดนเท่านั้น ใน พ.ศ. 2558 มีจำนวน 390,068 คน โดยพบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตเข้าทำงานมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 26.3 (102,456 คน) รองลงมาเป็นจังหวัดสงขลา ร้อยละ 13.4 (52,291 คน) จังหวัดระนอง ร้อยละ12.5 (48,711 คน) จังหวัดตาก ร้อยละ 8.0 (31,436 คน) และจังหวัดราชบุรี ร้อยละ 6.0 (23,502 คน) ตามลำดับ
แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากเหล่านี้ ทั้งได้รับอนุญาตให้ทำงานและไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ต่างมาอาศัยเป็นประชากรแฝงเป็นจำนวนมากทั้งแบบไปกลับรายวัน ระยะสั้น จนถึงอยู่เป็นชุมชน เกือบทั้งหมดเมื่อเจ็บป่วยจะไปรับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐตามแนวชายแดน ซึ่งบางส่วนไม่มีหลักประกันสุขภาพจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาได้ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากแรงงานข้ามชาติส่งผลให้ภาระการเงินของโรงพยาบาลติดลบ
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ข้ามฝั่งมารักษาพยาบาล ซึ่งบางส่วนไม่มีเงินและโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้น
จากการศึกษาถึงสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทยปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บได้จากประชากรข้ามชาติ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากประชากรข้ามชาติ
ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ได้แก่ ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในต่างด้าว พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า จาก 417,044,813 บาท ในปีงบประมาณ 2556 เป็น 1,528,964,530 บาทในปีงบประมาณ 2558
โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติ ใน 31 จังหวัดชายแดน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า จาก 356,745,167 บาท ในปีงบประมาณ 2553 เป็น 578,102,645 บาท ในปีงบประมาณ 2558 หรือคิดเป็นอัตรา 2 ใน 5 (ร้อยละ 37.8) ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติทั้งหมด
ซึ่งพบว่าจังหวัดชายแดนไทย – เมียนมา มีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้สูงที่สุด คือ 431,081,275 บาท รองลงมาเป็นจังหวัดชายแดนไทย – สปป.ลาว เป็นเงิน 92,346,647 บาท
และจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา เป็นเงิน 41,481,178 บาท
ขณะที่จังหวัดชายแดนไทย – มาเลเซีย มีภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้น้อยที่สุด เป็นเงิน 13,193,545 บาท ส่งผลให้จังหวัดชายแดนโดยเฉพาะโรงพยาบาลบริเวณชายแดนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ
จากการศึกษายังพบว่า จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติสูงที่สุดใน 5 ลำดับแรก คือ
ตาก เป็นเงิน 265,437,839 บาท
รองลงมาเป็นเชียงใหม่ เป็นเงิน 41,052,418 บาท
แม่ฮ่องสอน เป็นเงิน 36,169,508 บาท
หนองคาย เป็นเงิน 26,011,100 บาท
และเชียงราย เป็นเงิน 25,522,983 บาท
ขณะที่จังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติน้อยที่สุดคือ 235,879 บาท
และพบว่าโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติมากกว่าโรงพยาบาลชุมชน กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2558 โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติ เป็นเงิน 91,879,935 บาทขณะที่โรงพยาบาลชุมชนรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติเป็นเงิน 85,699,209 บาท
ทำให้ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติ มีทั้งภาระการให้บริการสุขภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาระทางการเงินของโรงพยาบาลติดลบต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา
ตอนต่อไปติดตาม ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย
การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
รูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เรียบเรียงจาก
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่างด้าว ใน 31 จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ 2558. กระทรวงสาธารณสุข, 2559.
- 623 views