“ยาโต๊ะโมเดล” โครงการสุขภาพระดับตำบล ที่บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เน้นแก้เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในชุมชน ร่วมปลูกพืชสมุนไพร ออกกำลังกาย บนเป้าหมายสุขภาวะดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน
นายอับดุลรอซัค สะมะแอ ผอ.รพ.สต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการระบบสุขภาพระดับอำเภอในส่วนของ อ.บาเจาะ โดยทำเรื่อง “ยาโต๊ะโมเดล” จัดการโรคเบาหวาน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดกระบวนการพูดคุย ระดมสมองเพื่อร่วมแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่
ทั้งนี้ หลักการของ “ยาโต๊ะโมเดล” ยึดตามตัวย่อที่มาจากชื่อเต็มภาษาอังกฤษ NYATOH โดย N ย่อมาจาก Natural คือ ความเป็นธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้พืชผักสมุนไพรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนที่เป็นโรคความดัน เบาหวาน
Y คือ Yourself การพึ่งตนเอง ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้คนในพื้นที่พึ่งตนเองให้มากที่สุด
A คือ Activity กิจกรรมในชุมชน ยึดการออกกำลังกายในหมู่บ้านมี ไม้พลอง ยางยืด ลูกยางสำหรับบีบนวดคลายเส้นประสาท และมีการปั่นจักรยานมาทำภารกิจที่มัสยิด ส่วนอาหารก็เน้นผักพื้นบ้าน เพราะในพื้นที่มีป่าไม้ชุมชน ธนาคารต้นไม้ ในด้านอารมณ์ก็นึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ใช้ผู้นำศาสนาตามแนวที่ชุมชนนับถือ
T คือ Together มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ชุมชนมีสุขภาพดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
O คือ Organize การจัดการที่ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังรวมถึง แกนนำเกษตรอาสา ที่เข้ามามีส่วนด้วย
H สุดท้ายคือ Healthy การมีสุขภาพดีของชุมชน ทั้งครอบครัว บุคคล รวมเป็นการมีสุขภาวะที่ดี
“ยาโต๊ะเป็นภาษามลายู และเป็นชื่อของหมู่บ้าน ชื่อดั้งเดิมเป็นชื่อของต้นไม้ คำว่า ยาโต๊ะโมเดล เริ่มจากชุมชนที่ได้ออกความคิดขึ้นมา เมื่อเราทำโครงการนี้ ก็น่าจะมีคำๆ หนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสร้างความภาคภูมิใจขึ้น” ผอ.รพ.สต.บาเร๊ะเหนือ กล่าว
นายอับดุลรอซัค กล่าวว่า โครงการที่ประชาคมหมู่บ้านร่วมกันทำในพื้นที่แล้ว เช่น ธนาคารชุมชน การจัดกิจกรรม จัดอบรมให้ความรู้กับเครือข่าย กลุ่มผู้ป่วย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนการปลูกผักสวนครัว ก็เน้นพืชผักสมุนไพรที่มีในชุมชน เช่น ตระไคร้ ขิง ใบเตย มะนาว ถั่ว ให้แต่ละครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เบาหวาน เป็นผู้ปลูก โดยดูบริบทของแต่ละครอบครัวว่า เหมาะที่จะปลูกอะไรรอบบ้านของเขา เราก็อาจช่วยในเรื่องเมล็ดพันธุ์
นายอับดุลรอซัค กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินการ คือ ให้ชุมชนเสนองบประมาณ และร่วมบริการจัดการกันเอง โดยทางโรงพยาบาลและเครือข่าย รวมถึง สสส.อาจมีงบนำร่องให้หมู่บ้าน เช่น โครงการละหมื่นบาท เป็นทุนดำเนินงานจัดกิจกรรมให้ความรู้ อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ไม่ได้บอกชาวบ้านเรื่องขอบเขตโครงการ แต่จะเน้นรูปแบบการจัดเวทีเพื่อเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน ผู้ป่วย ได้ระดมความคิด โดยที่เราอาจสนับสนุนซื้อน้ำมาให้ช่วงพักเบรก
นายอับดุลรอซัค กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนรูปแบบ “ยาโต๊ะโมเดล” ไปยังหมู่บ้านข้างเคียง โดยเจ้าหน้าที่จะคอยให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อหวังให้ประชาชนจัดตั้งเครือข่ายที่เข้มแข็ง นอกจากนี้มีการทำแบบสอบถามต่างๆ เพื่อประเมินผล ความต้องการต่างๆ และถึงแม้จะเริ่มดำเนินงานไปอย่างช้าๆ แต่ก็ไม่เป็นไร ขอให้ยั่งยืน ให้คนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของเพื่อวางแผน คิดทำเอง บริหารงบประมาณเอง โดยยึดความโปร่งใส
ขอบคุณภาพจาก ปิ่นโตครีเอชั่น
- 131 views